วันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

โรคอัลซไฮเมอร์ Alzheimer's disease ตอนที่ 2

โรคอัลไซเมอร์


การป้องกัน
  การศึกษาจากทั่วโลกเพื่อวัดการป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์มักให้ผลการศึกษาที่ขัดแย้งกัน ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดสนับสนุนว่ามีวิธีใดที่ป้องกันโรคอัลไซเมอร์อย่างมีประสิทธิผล อย่างไรก็ตามการศึกษาทางระบาดวิทยาหลายชิ้นแสดงความสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆ อาทิอาหาร โรคหลอดเลือดหัวใจ ยา หรือกิจกรรมที่ใช้ทักษะทางสติปัญญา กับการลดความเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ แต่ยังจำเป็นต้องมีงานวิจัยต่อไปเพิ่มเติมเพื่ออธิบายบทบาทว่าปัจจัยเหล่านี้ลดอัตราการเกิดของโรคนี้ได้อย่างไร
  ส่วนประกอบของอาหารเมดิเตอร์เรเนียน ได้แก่ ผักและผลไม้ ขนมปัง ข้าวสาลีและธัญพืชต่างๆ น้ำมันมะกอก ปลา และไวน์แดง ทั้งหมดสามารถลดความเสี่ยงและช่วงเวลาการเป็นโรคอัลไซเมอร์
  วิตามินหลายชนิดเช่น วิตามินบี12 วิตามินบี3 วิตามินซี หรือกรดโฟลิก ในบางงานวิจัยพบว่าช่วยลดความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ แต่ในบางการศึกษากล่าวว่าไม่พบผลของวิตามินต่อการเกิดหรือการดำเนินโรคอย่างมีนัยสำคัญ ซ้ำยังอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่สำคัญ สารเคอร์คิวมิน (curcumin) จากขมิ้นพบว่ามีประสิทธิผลบ้างในการป้องกันการทำลายสมองในหนูทดลอง
  แม้ว่าปัจจัยเสี่ยงด้านโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น ภาวะเลือดมีคอเลสเทอรอลมาก ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และการสูบบุหรี่ จะเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่อการเกิดและระยะเวลาการดำเนินโรคอัลไซเมอร์ แต่การใช้ยากลุ่มสแตตินเพื่อควบคุมระดับคอเลสเทอรอลกลับไม่มีประสิทธิผลในการป้องกันหรือช่วยทำให้การดำเนินโรคอัลไซเมอร์ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้ยากลุ่มยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตรอยด์ (NSAIDs) เช่น แอสไพริน ไอบูโปรเฟน ช่วยลดความเสี่ยงจะเป็นโรคอัลไซเมอร์ในบางคน ยาอื่นๆ เช่น ฮอร์โมนทดแทนในสตรี ไม่พบว่าช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อม ในการทบทวนวรรณกรรมในปี พ.ศ. 2550 สรุปว่าไม่มีหลักฐานอันสอดคล้องกันหรือเชื่อได้ว่าแปะก๊วยให้ผลในการป้องกันความบกพร่องของการรู้  และการศึกษาล่าสุดสรุปว่าแปะก๊วยไม่มีผลในการลดอัตราอุบัติการณ์ของโรคอัลไซเมอร์
  กิจกรรมที่ใช้ทักษะทางสติปัญญาเช่นอ่านหนังสือ เล่นหมากกระดาน เล่นปริศนาอักษรไขว้ เล่นดนตรี หรือมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมช่วยชะลอการเกิดหรือลดความรุนแรงของโรคอัลไซเมอร์ การพูดได้สองภาษาสามารถชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์เช่นกัน

  ในบางการศึกษาพบว่าความเสี่ยงในการเป็นโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นในผู้ทำงานที่ต้องได้รับสนามแม่เหล็ก ได้รับโลหะโดยเฉพาะอย่างยิ่งอะลูมิเนียม หรือได้รับตัวทำละลาย แต่คุณภาพของการศึกษาดังกล่าวยังเป็นที่ถกเถียงกัน รวมถึงบางการศึกษากลับสรุปว่าไม่มีความสัมพันธ์กันระหว่างปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมกับการเกิดโรคอัลไซเมอร์

การบำบัดและการจัดการ
  ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาด การรักษาที่มีในปัจจุบันให้ผลดีเล็กน้อยต่ออาการแต่เป็นเพียงแค่ประคับประคองหรือบรรเทาเท่านั้น การรักษาในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือการรักษาด้วยยา การรักษาทางจิตสังคม และการให้การดูแลผู้ป่วย

การรักษาด้วยยา
   ในปัจจุบันมียาหรือเภสัชภัณฑ์ 5 ชนิดที่ได้รับการรับรองโดยหน่วยงานต่างๆ เช่น คณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) และหน่วยงานด้านยาของยุโรป (EMEA) ในการรักษาอาการทางการรับรู้ในโรคอัลไซเมอร์ ในกลุ่มยาทั้ง5ชนิดนี้ ประกอบด้วย 4 ชนิดเป็นแอนติโคลีนเอสเทอเรส (anticholinesterase) คือ tacrine, rivastigmine, galantamine และ donepezil และอีก 1 ชนิด คือเมแมนทีน (memantine) ซึ่งเป็นสารต้านตัวรับเอ็นเอ็มดีเอ (NMDA receptor antagonist) แต่ไม่มียาใดที่มีข้อบ่งชี้ในการชะลอหรือหยุดการดำเนินโรคอย่างแท้จริง
   ลักษณะของโรคอัลไซเมอร์ที่เป็นที่เข้าใจกันคือ การลดการทำงานของเส้นประสาทโคลิเนอร์จิก (cholinergic)  แอนติโคลีนเอสเทอเรสถูกใช้เพื่อลดอัตราการทำลายแอซิทิลโคลีน (acetylcholine; ACh) ทำให้เพิ่มปริมาณความเข้มข้นของแอซิทิลโคลีนในสมองเพื่อสู้กับการลดลงของแอซิทิลโคลีนอันเนื่องจากการตายของเซลล์ประสาท ในปี พ.ศ. 2551 แอนติโคลีนเอสเทอเรสที่ได้รับการรับรองในการรักษาอาการโรคอัลไซเมอร์คือ โดเนเพซิล (donepezil; ชื่อการค้า Aricept) ,  กาแลนทามีน (galantamine; ชื่อการค้า Razadyne) , และไรวาสติกมีน (rivastigmine ; ชื่อการค้า Exelon[ และ Exelon Patch) ซึ่งมีหลักฐานแสดงประสิทธิผลของยาต่อโรคอัลไซเมอร์ชนิดอ่อนหรือปานกลาง และมีหลักฐานบางส่วนรับรองถึงการใช้ในโรคอัลไซเมอร์ขั้นรุนแรง เฉพาะโดเนเพซิลเท่านั้นที่ได้รับการรับรองในการรักษาภาวะสมองเสื่อมจากอัลไซเมอร์ขั้นรุนแรง การใช้ยาเหล่านี้กลุ่มความบกพร่องทางการรู้เล็กน้อย (mild cognitive impairment) ไม่มีประสิทธิผลในการชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์ที่จะเกิดตามมาภายหลัง ผลข้างเคียงของยาที่พบบ่อยคือคลื่นไส้อาเจียน อันเนื่องจากปริมาณโคลิเนอร์จิกมากเกินไป พบได้ประมาณร้อยละ 10-20 ของผู้ใช้ยาและมีความรุนแรงในระดับน้อยถึงปานกลาง ส่วนผลข้างเคียงที่พบได้น้อยคือตะคริว หัวใจเต้นช้า เบื่ออาหาร น้ำหนักลด และเพิ่มการสร้างกรดกระเพาะ
   แม้กลูตาเมตจะเป็นสารสื่อประสาทชนิดกระตุ้นที่มีประโยชน์ในระบบประสาท แต่หากมีปริมาณมากเกินไปในสมองอาจทำให้เซลล์ตายได้จากกระบวนการชื่อว่า ภาวะเอ็กไซโททอกซิก (excitotoxicity) อันเกิดจากการกระตุ้นอย่างมากเกินของตัวรับกลูตาเมต ภาวะเอ็กไซโททอกซิกเกิดขึ้นไม่เฉพาะในโรคอัลไซเมอร์เท่านั้นแต่ยังพบในโรคทางระบบประสาทหลายอย่าง เช่น โรคพาร์กินสันและโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (multiple sclerosis)  เมแมนทีน (Memantine; ชื่อการค้า Akatinol Axura Ebixa/Abixa Memox และ Namenda) เป็นสารต้านตัวรับเอ็นเอ็มดีเอชนิดไม่แข่งขัน (noncompetitive NMDA receptor antagonist) ซึ่งถูกใช้ครั้งแรกเป็นสารต้านไข้หวัดใหญ่ สารนี้จะทำงานในระบบกลูตาเมเทอร์จิกโดยขัดขวางตัวรับเอ็นเอ็มดีเอและยับยั้งการกระตุ้นมากเกินของกลูตาเมต เมแมนทีนมีประสิทธิภาพปานกลางในการรักษาโรคอัลไซเมอร์ชนิดปานกลางและรุนแรง แต่ประสิทธิผลในโรคอัลไซเมอร์ระยะแรกยังไม่เป็นที่ทราบ ผลข้างเคียงของเมแมนทีนยังรายงานพบไม่บ่อยและไม่รุนแรง อาทิประสาทหลอน สับสน เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ และเหนื่อยล้า การใช้ยาเมแมนทีนและโดเนเพซิลร่วมกันให้ประสิทธิผลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่มีประสิทธิผลเพียงเล็กน้อยในทางคลินิก

   ยารักษาโรคจิต (antipsychotic) มีประโยชน์ในการลดความก้าวร้าวและอาการทางจิตในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ที่มีปัญหาด้านพฤติกรรม แต่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง ปัญหาการเคลื่อนไหวหรือการรู้ลดลง จึงไม่ควรใช้ยานี้ในผู้ป่วยทุกราย และหากใช้ในระยะยาวอาจส่งผลเกี่ยวข้องกับการเพิ่มภาวะการตาย

การรักษาทางจิตสังคม
  การรักษาทางจิตสังคมถูกใช้ร่วมกับการรักษาด้วยยา แบ่งออกเป็นวิธีมุ่งเน้นด้านพฤติกรรม (behaviour-oriented) , อารมณ์ (emotion-oriented) , การรู้ (cognition-oriented) หรือการกระตุ้น (stimulation-oriented) ส่วนงานวิจัยถึงประสิทธิผลนั้นยังไม่สามารถหาได้และไม่จำเพาะต่อโรคอัลไซเมอร์ แต่มุ่งเน้นไปยังภาวะสมองเสื่อมทั่วไปแทน
   การแก้ไขพฤติกรรมคือการพยายามระบุและลดสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนและผลที่ตามมาของพฤติกรรมปัญหา วิธีดังกล่าวยังไม่แสดงผลสำเร็จในการทำให้หน้าที่โดยรวมดีขึ้น แต่สามารถช่วยลดปัญหาพฤติกรรมบางอย่างได้ เช่น การกลั้นปัสสาวะไม่ได้ ปัจจุบันยังขาดข้อมูลที่มีคุณภาพสูงเกี่ยวกับประสิทธิผลของเทคนิคดังกล่าวในการรักษาปัญหาพฤติกรรมอื่นๆ เช่น การชอบหนีออกจากบ้าน
   การรักษาที่มุ่งเน้นด้านอารมณ์ได้แก่ การบำบัดด้วยความทรงจำ (reminiscence therapy; RT) , การบำบัดด้วยการให้เหตุผล (validation therapy) , จิตบำบัดแบบประคับประคอง (supportive psychotherapy) , การบูรณาการการรับความรู้สึก (sensory integration) หรือที่เรียกว่า สโนซีเลน (snoezelen) , และการบำบัดด้วยการจำลองการมีอยู่ (simulated presence therapy; SPT)
   มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์น้อยมากหรือไม่เป็นทางการที่ยอมรับการรักษาด้วยจิตบำบัดแบบประคับประคอง แต่แพทย์บางส่วนพบว่าวิธีนี้ช่วยให้ผู้ป่วยที่บกพร่องไม่มากสามารถปรับความเจ็บป่วยของเขาได้
   การบำบัดด้วยความทรงจำ (reminiscence therapy; RT) คือการอภิปรายถึงประสบการณ์ในอดีตของแต่ละคนหรือของกลุ่ม ซึ่งบางครั้งอาจใช้ภาพถ่าย สิ่งของเครื่องใช้ในบ้าน ดนตรีหรือเสียง หรือสิ่งของที่ผู้ป่วยคุ้นเคยในอดีตมาช่วยในการบำบัด แม้จะยังมีการศึกษาที่มีคุณภาพน้อยชิ้นเกี่ยวกับประสิทธิผลของวิธีนี้ แต่การบำบัดด้วยความทรงจำให้ผลดีต่อการรู้และพื้นอารมณ์
   การบำบัดด้วยการจำลองการมีอยู่ (simulated presence therapy; SPT) นั้นคือการรักษาที่อาศัยพื้นฐานของทฤษฎีความผูกพัน (attachment theory) คือการเล่นเสียงบันทึกของญาติสนิทหรือบุคคลสนิทของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ มีหลักฐานชั้นต้นที่ยืนยันว่าการบำบัดแบบนี้ช่วยลดความวิตกกังวลและพฤติกรรมท้าทาย
   ท้ายที่สุด การบำบัดด้วยการให้เหตุผล (validation therapy) นั้นอาศัยพื้นฐานของการยอมรับความเป็นจริงและความจริงส่วนบุคคลของประสบการณ์ผู้อื่น ต่างจากการบูรณาการการรับความรู้สึก (sensory integration) ที่อาศัยการออกกำลังเพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสเป็นพื้นฐาน หลักฐานที่สนับสนุนถึงประโยชน์ในวิธีนี้ยังมีน้อย
   เป้าหมายของการรักษาที่มุ่งเน้นการรู้คือการลดความบกพร่องในการรู้ (cognitive deficit) ซึ่งได้แก่การรับรู้ความเป็นจริงและการฟื้นฟูการรู้ การรับรู้ความเป็นจริง (reality orientation) ประกอบด้วยการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเวลา สถานที่ หรือบุคคลเพื่อช่วยให้เข้าใจตัวตนเกี่ยวกับสภาวะแวดล้อมและสถานที่ที่เขาอยู่ ในขณะที่การฟื้นฟูการรู้ (cognitive retraining) มุ่งพัฒนาความสามารถที่บกพร่องโดยการบริหารจิต ทั้งสองวิธีการแสดงประสิทธิผลบางส่วนในการทำให้ความสามารถด้านการรู้ดีขึ้น แม้ในบางการศึกษาผลดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและมีรายงานว่าเกิดผลเสียต่อผู้ป่วย เช่น ความคับข้องใจ
    การรักษาที่มุ่งเน้นการกระตุ้น เช่น ศิลปะบำบัด ดนตรีบำบัด การบำบัดโดยอาศัยสัตว์เลี้ยง กายภาพบำบัด และนันทนาการบำบัดชนิดอื่นๆ การกระตุ้นเป็นวิธีการที่นิยมในการพัฒนาพฤติกรรม พื้นอารมณ์ และหน้าที่ อย่างไรก็ตาม การรักษาเหล่านี้นอกจากจะให้ผลดีในด้านการรักษาแล้วประโยชน์หลักยังช่วยพัฒนาทักษะในชีวิตประจำวันด้วย

การให้การดูแลผู้ป่วย
    เนื่องจากโรคอัลไซเมอร์ยังไม่สามารถรักษาหายขาดได้ และผู้ป่วยต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้อื่นเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ดูแลจึงมีความสำคัญในการรักษาและต้องช่วยจัดการดูแลอย่างระมัดระวังตลอดการดำเนินโรค
    ในผู้ป่วยระยะแรกและระยะปานกลาง การปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัยและวิถีชีวิต ช่วยให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยมากขึ้นและลดภาระต่อผู้ดูแลได้ ตัวอย่างเช่นการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวันง่ายขึ้น การล็อกบ้านและรั้ว การติดป้ายหรือฉลากบนเครื่องใช้ภายในบ้านเพื่อบอกหรือเตือนผู้ป่วย หรือการใช้อุปกรณ์ปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวัน เนื่องจากผู้ป่วยอาจไม่สามารถรับประทานอาหารได้เอง จึงควรทำอาหารเป็นชิ้นเล็กๆ หรือเป็นของเหลว ถ้าผู้ป่วยเริ่มมีอาการกลืนลำบากอาจต้องใช้สายยางให้อาหาร (feeding tube) ในกรณีดังกล่าวผู้ดูแลและสมาชิกในครอบครัวควรคำนึงถึงประสิทธิผลและจริยธรรมของการให้อาหารทางสายยางต่อเนื่อง ไม่มีข้อบ่งชี้ให้ทำการยึดยั้งผู้ป่วยอยู่กับที่ในระยะใดๆ ของโรค แม้ว่าจะมีสถานการณ์จำเป็นที่ต้องป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเกิดอันตรายหรือทำอันตรายต่อผู้ดูแล

   เมื่อโรคดำเนินไป อาจเกิดปัญหาทางการแพทย์อื่นๆ ตามมาอีก อาทิ โรคในช่องปากและฟัน แผลกดทับ ขาดสารอาหาร ปัญหาสุขอนามัย หรือการติดเชื้อในทางเดินหายใจ ผิวหนังหรือตา การดูแลอย่างระมัดระวังช่วยป้องกันภาวะดังกล่าว และหากเกิดปัญหาดังกล่าวตามมาแล้วต้องรับการรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญ ในระยะสุดท้ายของโรค การรักษาจะมุ่งเน้นไปยังการลดความรู้สึกไม่สะดวกสบายไปจนกระทั่งผู้ป่วยเสียชีวิต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น