วันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2557

วัณโรค (Tuberculosis)

วัณโรค (Tuberculosis)


วัณโรคเป็นโรคติดเชื้อที่มีความสำคัญมากที่สุดโรคหนึ่งในปัจจุบัน จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกเมื่อปี ค.ศ.1997 คาดว่าผู้ที่ติดเชื้อวัณโรคมีอยู่มากกว่า 2,000 ล้านคนทั่วโลก และพบว่ามีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นประมาณ 12 ล้านคนในแต่ละปี ซึ่งถ้านับรวมผู้ป่วยวัณโรคทั้งหมดในช่วงเวลาหนึ่งๆ อาจมีจำนวนมากถึง 16 ล้านคน นอกจากนี้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยวัณโรคประมาณปีละ 2-3 ล้านคน จะเห็นได้ว่าวัณโรคจึงเป็นสาเหตุการตายจากโรคติดเชื้อที่สำคัญที่สุดโรคหนึ่ง

     วัณโรคในประเทศไทยถือว่าค่อนข้างวิกฤติ โดยคาดการณ์ว่าขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรคราว 80,000-100,000 คน และมีแนวโน้มสูงขึ้นในผู้ติดเชื้อเอดส์ ประเทศไทยมีผู้ได้รับเชื้อวัณโรคแล้วประมาณ 25 ล้านคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 10 สามารถแพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่นได้ ในการลดผู้ป่วยวัณโรคไม่ให้กลับมาเป็นปัญหาสาธารณสุขที่วิกฤติของประเทศ จำเป็นต้องมุ่งเน้นรักษาผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยวัณโรคจำนวน 72,000 คนให้หายขาด ปัจจัยที่ทำให้เกิดวัณโรคคือความยากจนและการติดเชื้อเอดส์ ที่สำคัญปัญหาการรักษาวัณโรคคือเชื้อดื้อยาซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่ผู้ป่วยไม่รักษาอย่างต่อเนื่องทำให้ป่วยซ้ำ โดยกลุ่มนี้มีอัตราสูงถึงร้อยละ 20

     ปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยโรคเอดส์เป็นวัณโรคแทรกซ้อนกันมาก และทำให้วัณโรคปอดที่เคยลดลง มีการแพร่กระจายมากขึ้น ที่สำคัญเมื่อเข้ารับการรักษาควรต้องรับการรักษาให้จบขั้นตอนตามที่แพทย์กำหนดโดยเคร่งครัด มิฉะนั้นจะทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาเพิ่มมากขึ้น ทำให้เป็นปัญหาลำบากในการรักษาต่อไป

     สาเหตุวัณโรค

     วัณโรคเกิดจากเชื้อวัณโรค ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีชื่อว่า ไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) บางครั้งเรียกว่า เชื้อเอเอฟบี (AFB/Acid Fast Bacilli) เชื้อวัณโรคติดต่อจากคนไปคนผ่านทางละอองเสมหะที่เกิดจากการไอ จาม หรือ การใช้เสียง เชื้อวัณโรคที่ตกลงสู่พื้นหรือติดอยู่กับผิวสัมผัสของวัตถุอื่นๆ จะถูกทำลายไปโดยง่ายโดยแสงสว่างและอากาศที่ถ่ายเทสะดวก วัณโรคแพร่ได้ด้วยการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น อยู่อาศัยร่วมบ้านเดียวกัน การที่ผู้ป่วยภูมิต้านทานร่างกายอ่อนแอ เช่น เบาหวาน ติดเชื้อเอชไอวี หรือได้รับยากดภูมิต้านทาน เช่น ยารักษาโรคมะเร็ง หรือยาลูกกลอนที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ จะทำให้มีโอกาสเป็นวัณโรคได้ง่าย

     อาการวัณโรค

     อาการนำของวัณโรคปอดที่สำคัญคืออาการไอติดต่อกันเกิน 3 สัปดาห์ ในบางรายอาจมีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร หรือ ไอมีเลือดออก ร่วมด้วยได้ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยวัณโรคในระยะแรกๆ มักจะไม่ปรากฏอาการให้เห็นชัดเจน

     อาการแทรกซ้อนที่สำคัญคือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ, ฝีในปอด, ภาวะมีน้ำในช่องหุ้มปอด, วัณโรคต่อมน้ำเหลือง พบบ่อยที่ข้างคอ อาจโตเป็นก้อนร่วมกับไข้เรื้อรัง หรือโตต่อกันเป็นสายเรียกว่า ฝีประคำร้อย, ไอออกเป็นเลือดถึงช็อก ที่พบได้น้อยลงไป ได้แก่ วัณโรคกระดูก มักพบที่กระดูกสันหลัง มีอาการปวดหลังเรื้อรัง หลังคดโก่ง และกดเจ็บ, วัณโรคลำไส้ มีอาการไข้ ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเดินเรื้อรัง ซูบผอม ถ้าลุกลามไปที่เยื่อบุช่องท้องที่ทำให้ท้องมานได้, วัณโรคไต, วัณโรคกล่องเสียง เสียงแหบ เป็นต้น

    การวินิจฉัยวัณโรค

     จากประวัติอาการเจ็บป่วย การตรวจร่างกายอย่างละเอียด ร่วมกับการตรวจพบเชื้อวัณโรคในเสมหะ หรือสารคัดหลั่งต่างๆ ในร่างกาย การตรวจทางรังสีโดยการถ่ายภาพเอ็กซเรย์ช่วยในการวินิจฉัยเป็นอย่างมาก

    การรักษาวัณโรค

     โดยการให้ยารักษาวัณโรคอย่างน้อย 2 ชนิดขึ้นไป โดยมีไอเอ็นเอช เป็นยาหลัก 1 ชนิด แล้วให้ยาอื่นร่วมด้วยอีก 1-3 ชนิด การใช้ยาเพียงชนิดเดียวมักจะรักษาไม่ได้ผล ยาที่ใช้รักษาวัณโรคจึงมีสูตรให้เลือกอยู่หลายแบบ

     ผู้ที่เป็นวัณโรคในระยะที่เริ่มการรักษา โดยเฉพาะ 2 สัปดาห์แรก จึงควรหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดผู้อื่นโดยเฉพาะเด็กและคนชรา และควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในที่สาธารณะที่ผู้คนแออัด เช่น โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยยานพาหนะร่วมกับผู้อื่นเป็นเวลานานโดยเฉพาะถ้าเกิน 8 ชั่วโมงขึ้นไป แต่ไม่จำเป็นต้องแยกข้าวของเครื่องใช้ในกิจวัตรประจำตัวจากคนอื่น หลังจากทำการรักษาจนอาการไอหายไปแล้ว ยิ่งถ้าแพทย์ตรวจเสมหะซ้ำแล้วว่าไม่พบเชื้อวัณโรค ก็จะปลอดภัยเพียงพอที่จะมีกิจกรรมทางหน้าที่การงานและทางสังคมได้ตามปกติ

    สาเหตุของการรักษาวัณโรคไม่ได้ผล

     สาเหตุที่สำคัญได้แก่การที่ผู้ป่วยได้รับยาไม่ถูกต้อง ผู้ป่วยรับยาไม่สม่ำเสมอไม่ครบตามตามกำหนดเวลาอันสมควร บางคนอาจมีการแพ้ยาเกิดขึ้น นอกจากนี้อาจเกิดจากมีโรคอื่นร่วมอยู่ด้วยและไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เช่นเบาหวาน พิษสุราเรื้อรัง สำหรับการรักษาผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษามาก่อน ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษามาเต็มที่เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน และการประเมินผลแสดงการรักษาไม่ได้ผล ควรเปลี่ยนใช้ยาขนานใหม่ที่ผู้ป่วยไม่เคยได้รับมาก่อนอย่างน้อย 2 หรือ 3 ขนาน โดยอาศัยผลการทดสอบการต้านยาของเชื้อวัณโรค หรือการเปลี่ยนแปลงทางคลินิกผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษาจนครบกระบวนการแล้วโรคสงบไประยะหนึ่งแล้วกำเริบขึ้นใหม่

     การรักษาควรพิจารณาถึงสถานที่นั้นสามารถทดสอบความไวต่อยาของเชื้อวัณโรคได้หรือไม่ ถ้าสามารถทำการทดสอบได้อาจให้ยาเก่าที่ผู้ป่วยเคยได้รับมาก่อนและรอผลทดสอบการต้านยาของเชื้อวัณโรค ถ้าไม่สามารถทำการทดสอบได้ควรใช้ยาใหม่ที่ผู้ป่วยไม่เคยได้รับมาก่อน 2-3 ขนาน อย่างไรก็ตามการรักษาผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษามาก่อนมีความยุ่งยากและปัญหามาก เนื่องจากต้องใช้ยาที่มีประสิทธิภาพต่ำและผลแทรกซ้อนสูง

     การป้องกันวัณโรค

      สำหรับการป้องกันและดูแลจากผู้ป่วยที่อยู่ร่วมชายคาเดียวกันนั้นต้องอยู่ในที่โล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่คลุกคลี สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคที่อยู่ในระยะแพร่เชื้อ ฉีดวัคซีนบีซีจีตั้งแต่แรกคลอด ไม่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น เช่น ไม่ไอ จาม รดผู้อื่น ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัว ได้แก่ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ร่วมกับผู้อื่น ไม่บ้วนเสมหะลงพื้นในที่แสงแดดส่องไม่ถึง ถ้ามีอาการน่าสงสัย หรือผิดปกติ หรือสัมผัสใกล้ชิด ควรปรึกษาแพทย์ทันที

อ้างอิง http://www.4life-network.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น