โรคมาลาเรีย (Malaria)
อะไรเป็นสาเหตุของโรค
โรคมีสาเหตุจากปรสิตสปอโรซัวใน genus Plasmodium ก่อโรคมาลาเรียในคนและสัตว์ เชื้อพลาสโมเดียมพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ปีก และ สัตว์เลื้อยคลาน รวม
พลาสโมเดียมทั้งหมดมากกว่า 120 ชนิด พลาสโมเดียมที่ก่อโรคในคนที่สำคัญมีเพียง 4 ชนิด ได้แก่ Plasmodium vivax, P. ovale, P. malariae, และ P. falciparum
ว่า “มาลาเรีย” มีต้นกำเนิดมาจากในศตวรรษที่ 17 ที่มีคนเล่าลือถึง “Roman Airs” แพทย์และคนอิตาเลียนต่างกล่าวว่า อากาศเสียเป็น สาเหตุของไข้ และเรียกว่า mal'aria หมายถึง อากาศเสีย; ในเวลาใดเวลาหนึ่งในยุคกลางเครื่องหมาย ' หายไปกลายเป็น malaria ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่โรค แต่กล่าวถึงสาเหตุของโรค แต่ต่อมาเปลี่ยนแปลงจนปัจจุบันหมายถึงกลุ่มของโรคหรือไข้ที่เกิดจากปรสิตในตระกูลพลาสโมเดียม
วงจรชีวิตเป็นอย่างไร
วงจรชีวิตอาศัยคนและยุงก้นปล่อง การเจริญเติบโตของพลาสโมเดียมในยุงเป็นแบบอาศัยเพศ เรียกว่า “สปอโรโกนี” ในคนเป็นแบบไม่อาศัยเพศ เรียกว่า “ชิโซโกนี” และพลาสโมเดียมในเลือดคนยังมีการสร้างเซลล์เพศ เรียกว่า “แกมีโตไซโตโกนี”
การเจริญเติบโตของพลาสโมเดียมในคน เกิดในเซลล์ตับและในเซลล์เม็ดเลือดแดง
1. การเจริญของเชื้อในตับ: เมื่อยุงกัดคนระยะติดต่อของเชื้อในน้ำลายยุง เรียกว่า สปอโรซอยต์ มีลักษณะเรียวยาวคล้ายกระสวย ยาว 11-12 ไมโครเมตร กว้างประมาณ 1 ไมโครเมตร เข้าสู่กระแสโลหิต และไชเข้าเซลล์ตับ เปลี่ยนรูปร่างเป็นกลมรีและโตขึ้นมีการแบ่งนิวเคลียสเป็นหลาย ๆ ก้อน ระยะนี้เรียกว่าชิซอนต์ ต่อมาเมื่อเจริญเต็มที่จะแบ่งแยกตัวได้ เมโรซอยต์ รูปร่างกลมรีขนาด 1.5-2 ไมโครเมตร จำนวนหลายตัว เมโรซอยต์นี้จะเข้าสู่เม็ดเลือดแดงต่อไป การเจริญในตับกินเวลา 5-16 วัน
2. การเจริญเติบโตในเม็ดเลือดแดง เมโรซอยต์จากเซลล์ตับเข้าในเม็ดเลือดแดง และเติบโตระหว่างการเติบโตจะมีรูปร่างเปลี่ยนไป เริ่มแรกมีรูปร่างวงแหวน จึงเรียกกันทั่วไปว่าระยะวงแหวน “ring form”, เมื่อเจริญเต็มที่เรียกว่าซิซอนต์เต็มวัย มีเมโรซอยต์เกิดเป็นตัวเรียบร้อยแล้ว จำนวนเมโรซอยต์ในเม็ดเลือดแดง มีจำนวน 4-24 ตัว ขึ้นกับชนิดของพลาสโมเดียม เมโรซอยต์จากชิซอนต์เต็มวัยออกมาในกระแสโลหิต และจะเข้าเม็ดเลือดแดงตัวใหม่ต่อไป เจริญเติบโตอีกครั้งหนึ่ง เป็นวงจรซ้ำ ๆ เช่นนี้ เรียกว่า วงเม็ดเลือดแดง erythrocytic (ER) schizogony หรือ cycle
ระยะเวลาที่ใช้ในแต่ละวงจรจะเป็นทวีคูณของ 24 ชั่วโมง แล้วแต่ชนิดของพลาสโมเดียม คือ 48 ชั่วโมง ใน P. falciparum, P. vivax, P. ovale และ 72 ชั่วโมง ใน P. malariae
เมโรซอยต์ที่เข้าเม็ดเลือดแดงบางตัวไม่เข้าสู่การเจริญเติบโตแบ่งตัว แต่จะกลายเป็นระยะแกมีโตไซต์ ซึ่งมีเพศผู้และเมีย เพศเมียเรียกว่า แมโครแกมีโตไซต์, เพศผู้เรียกว่าไมโครแกมีโตไซต์ กระบวนการสร้างแกมีโตไซต์เรียกว่า แกมีโตไซโตโกนี
ภาพแสดงเชื้อระยะต่าง ๆ ในเม็ดเลือดแดงย้อมสียิมซ่า
การเจริญเติบโตของเชื้อพลาสโมเดียมในยุงก้นปล่อง
ยุงก้นปล่องกินเลือดที่มีแกมีโตไซต์เข้าในกระเพาะ แมโครแกมีโตไซต์กลายเป็น แมโครแกมีต ซึ่งลักษณะทั่วไปไม่เปลี่ยนไปจากเดิม ส่วนไมโครแกมีโตไซต์เปลี่ยนสภาพไปอย่างสมบูรณ์ โดยงอกเส้นออกมา 8 เส้น แต่ละเส้นก็คือไมโครแกมีต ขบวนการงอกเส้นนี้เรียกว่า exflagellation ไมโครแกมีตเข้ารวมตัวกับ แมโครแกมีต กลายเป็นไซโกตซึ่งตัวยาวออกคล้ายหนอนเคลื่อนที่ได้ภายใน 18-24 ชั่วโมง เรียกตัวนี้ว่า โอโอไคนีต ซึ่งจะไชผนังกระเพาะยุงสู่ด้านนอก กลายเป็น โอโอซิสต์ ซึ่งเติบโตจนสุดท้ายสร้างสปอโรซอยต์มากมาย; เมื่อโอโอซิสต์แตก สปอโรซอยต์เข้าสู่ ต่อมน้ำลายเจริญเป็นสปอโรซอยต์ระยะติดต่อ
การเจริญเติบโตของพลาสโมเดียมในยุงกินเวลาประมาณ 2 สัปดาห์
อาการของมาลาเรียเป็นอย่างไร
อาการเริ่มแรกของมาลาเรียไม่จำเพาะ จะเป็นอาการคล้ายไข้หวัด เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ไอ แต่สักระยะหนึ่งที่เชื้อแต่ละตัวแบ่งตัวสอดคล้องกันดีแล้ว ผู้ป่วยจะมีไข้เป็นช่วงระยะอย่างสม่ำเสมอ แต่ละช่วงเรียกว่าแพร็อกซิซึม (paroxysm) ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่:
(1) ระยะหนาวสั่น: ผู้ป่วยมีอุณหภูมิร่างกายลดลง มีอาการหนาวสั่น กินเวลา 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง (2) ระยะไข้ตัวร้อน: ผู้ป่วยมีไข้สูง 40-41 เซลเซียส เป็นเวลา 1-4 ชั่วโมง (3) ระยะออกเหงื่อ กินเวลานาน 1-2 ชั่วโมง จากนั้นอุณหภูมิร่างกายปกติ เป็นช่วงปราศจากไข้ (apyrexia) จากนี้แล้ว paroxysm เกิดใหม่ เป็นเช่นนี้เรื่อยไป
สำหรับ P. vivax และ P. ovale นั้น ทำให้มีไข้ทุก ๆ 48 ชั่วโมง หรือเรียกว่ามีไข้วันเว้นวัน ส่วน P. malariae นั้น ทำให้มีไข้วันเว้นสองวัน
ไข้กลับ
หลังเป็นไข้ครั้งแรกจนหายจากอาการของมาลาเรียดีแล้ว อาจเป็นไข้มาลาเรียอีกครั้งหนึ่ง ทั้งที่ไม่ถูกยุงกัด ปรากฏการณ์นี้ เรียกว่า ไข้กลับ (relapse) ซึ่งมี สาเหตุจากเชื้อที่กบดานอยู่ในตับ หรือ เกิดจากการมีเชื้อหลงเหลืออยู่ในกระแสโลหิต แต่มีระดับต่ำกว่าการตรวจฟิล์มเลือดจะสามารถตรวจพบได้
มาลาเรียที่มีอาการรุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อน (severe and complicated malaria)
โดยมากเกิดจาก P. falciparum มักเกิดในเด็ก แต่อาจเกิดกับผู้ใหญ่ได้ด้วยโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ไม่มีภูมิต้านทานต่อมาลาเรียเลย
อาการมีอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้: (1) มาลาเรียขึ้นสมอง (2) โลหิตจางอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญในเด็ก, (3) ไตวาย (4) ปอดบวมน้ำ (5) น้ำตาลในเลือดต่ำ (6) ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลวหรือช็อค มีความดันโลหิตต่ำ ตัวเย็น, (7) เลือดออกตามเหงื่อ จมูก ฯลฯ (8) ชัก (9) เลือดเป็นกรด (10) ปัสสาวะดำ
พบโรคที่ใดบ้าง
มาลาเรียพบได้ถึงละติจูดที่ 64 องศาเหนือถึง 32 องศาใต้
พบทั้งเขตร้อนและเขตอบอุ่น โดยทั่วไปพบความชุกของเชื้อสูง
เรียงตามลำดับดังนี้ P. falciparum, P. vivax, P. malariae, P. ovale
มาลาเรียพบได้ในกว่า 100 ประเทศ แต่กว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วย
อยู่ในแอฟริกา มีผู้เสียชีวิตประมาณปีละล้านคน
ในประเทศไทยพบโรคชุกชุมแถวชายแดนเนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นป่า
และมีการเดินทางข้ามไปมาของเพื่อนบ้านซึ่งติดเชื้อ
อัตราเสียชีวิตของเด็กที่เป็นมาลาเรียขึ้นสมองอยู่ระหว่าง 10-40% ส่วนใหญ่จะเสียชีวิตในช่วง 24 ชั่วโมง แรกของการรักษา
โรคมาลาเรียแพร่โดยวิธีใด
การแพร่โรคมาลาเรีย อาจเกิดโดย (1) การแพร่ในธรรมชาติ (natural transmission) เกิดจากการถูกยุงกัด เป็นวิธีหลัก (2) การแพร่โดยบังเอิญ (accidental transmission) เช่น การถ่ายเลือด, การใช้เข็มฉีดยาร่วมกันในผู้เสพยาเสพติด (3) การแพร่ผ่านทางรก (congenital transmission) พบน้อยมาก (4) การแพร่โดยเจตนา (deliberate transmission) เช่น ใช้มาลาเรียรักษาโรคซิฟิลิส โดยเอาเลือดจากผู้ป่วยมาลาเรียให้แก่ผู้ป่วยเป็นซิฟิลิสขึ้นสมอง
ป้องกันและควบคุมโรคอย่างไร
(1) ป้องกันไม่ให้ยุงกัดโดยนอนในมุ้งหรือมุ้งชุบน้ำยากันยุง หรือทาสารกันยุง (2) ทำลายแหล่งแพร่ยุง เช่นที่น้ำขัง
(3) หลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่มีมีการแพร่โรคสูง หากจำเป็นอาจกินยาป้องกันก่อนเข้าไป
ในพื้นที่ และเมื่อออกมาแล้วตรวจเลือดหาเชื้อ (4) แรงงานหรือกลุ่มคนที่เคลื่อนย้ายมาจาก
ประเทศเพื่อนบ้านต้องได้รับการตรวจหาเชื้อและถ้าพบต้องรักษา
จะวินิจฉัยโรคมาลาเรียได้โดยวิธีใด
โดยทั่วไปทำได้โดยการตรวจเลือดหาเชื้อภายใต้กล้องจุลทรรศน์ การตรวจแบบนี้ต้องย้อมสีเลือดให้เห็นตัวเชื้อ วิธีที่ยังยอมรับกันว่าเป็นวิธีมาตรฐานเพื่อวินิจฉัยโรคมาลาเรีย คือการตรวจดูฟิล์มเลือดที่ย้อมสี ยิมซา (Giemsa)
อีกวิธีหนึ่งคืออาศัยชุดตรวจหาแอนติเจนของเชื้อซึ่งมีจำหน่ายแต่ราคาค่อนข้างแพง เพียงหยดเลือดลงในแผ่นที่เตรียมมาให้แล้วดูแถบสีที่เกิดขึ้นก็จะบอกได้ว่าเป็นโรคหรือไม่ เป็นวิธีที่สะดวกและรวดเร็ว
รักษาอย่างไร
มียาฆ่าเชื้อพลาสโมเดียมทั้งในตับหรือในเม็ดเลือดแดง ยาที่ใช้ในการรักษาไข้มาลาเรียมีหลายขนาน เช่น คลอโรควิน เมโฟลควิน อาร์ทีเมเทอร์ เตตราชัยคลิน เป็นต้น การให้ยาขนานใดขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ชนิดของเชื้อ เชื้อดื้อยา ระยะของโรค ความรุนแรงของโรค จึงต้องปรึกษาแพทย์ ผู้ป่วยมาลาเรียชนิดรุนแรงต้องให้การรักษาพยาบาลอย่างอื่นเสริมด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น