วันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน



เวียนหัว...ทรงตัวไม่อยู่หนึ่งสัญญาณอันตราย!!  (เดลินิวส์)

          เคยไหมที่อยู่ดี ๆ ก็เกิดอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ คล้าย ๆ บ้านหมุนโดยไม่รู้สาเหตุ กระเพาะอาหารปั่นป่วน อยากจะอาเจียนออกมา พอลุกขึ้นยืนก็ทรงตัวไม่อยู่จะล้มเสียให้ได้!??
 
          ลักษณะอาการเช่นนี้ อาจเป็นสัญญาณเตือนให้รู้ว่า คุณกำลังเข้าข่ายเป็น "โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน"
 
          นพ.วัชชิระ ตีระพิพัฒนกุล เวชศาสตร์ครอบครัว ศูนย์ตรวจสุขภาพ โรงพยา บาลปิยะเวท อธิบายถึงลักษณะ ของโรคน้ำในหูไม่เท่ากันให้ฟังว่า คำว่า โรคน้ำในหูไม่เท่ากันนั้นเป็นภาษาที่เรียกกันทั่วไป แต่ทางการแพทย์จะเรียกว่า  "โรคแรงดันน้ำในช่องหูชั้นในผิดปกติ"
 
          ปกติหูชั้นในจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่มีลักษณะคล้ายก้นหอย ทำหน้าที่รับเสียง อีกส่วนหนึ่งเป็น อวัยวะรูปร่างคล้ายเกือกม้า ซึ่งมีอยู่ 3 ชิ้นด้วยกัน ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัว
   
          หูชั้นในนอกจากจะแบ่ง ตามหน้าที่แล้ว ยังแบ่งตามโครงสร้างได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นกระดูก กับส่วนที่เป็นเยื่อหุ้มภายใน ส่วนที่เป็นกระดูกจะห่อหุ้มส่วนที่เป็นเยื่อหุ้มภายใน โดยในส่วนที่เป็นเยื่อหุ้มภายในจะมีของเหลวอยู่ เมื่อเกิดโรคแรงดันน้ำในช่องหูชั้นในผิดปกติ ของเหลวที่อยู่ในส่วนที่เป็นเยื่อหุ้มภายในจะคั่งมาก ทำให้การไหลเวียนไม่สะดวก แรงดันที่เพิ่มขึ้นในหูชั้นใน จะขัดขวางการทำงานของกระแสประสาทที่เกี่ยวกับการได้ยินและการทรงตัว ทำให้สูญเสียการได้ยินและความสมดุล เกิดอาการเวียนศีรษะขึ้น
 
          โรค ๆ นี้ไม่ได้พบบ่อยนัก ในจำนวนของคนไข้ที่เข้ามาพบแพทย์ ด้วยอาการเวียนศีรษะ อาเจียน จะมีเพียงร้อยละ 7 เท่านั้นที่เป็นโรคนี้
 
          ฉะนั้น ในการวินิจฉัยโรคจะต้องใช้อาการเฉพาะ เพื่อแยกโรคอื่นที่เกี่ยวกับหูออกไปเสียก่อน โดยใช้วิธีการตรวจเพิ่มเติมในส่วนของหูชั้นใน ซึ่งบางครั้งอาจไม่พบความผิดปกติ แต่อาจตรวจโรคอื่นที่ไม่ใช่โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เช่น หูน้ำหนวก ซึ่งเกิดในหูชั้นกลาง แต่ก็อาจจะกระ ทบไปถึงหูชั้นในด้วย
 
          ต่อมา คือภาวะหูชั้นในอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งภาวะนี้จะประกอบไปด้วย 2 โรคด้วยกัน เรียกว่า ภาวะของการทรงตัวผิดปกติอย่างเดียวกับโรคที่หูชั้นในผิดปกติแบบเฉียบพลัน ซึ่งจะมีทั้งที่ระบบการทรงตัวเสียและการได้ยินเสียไปด้วย และอีกโรคหนึ่งที่พบบ่อย ๆ คือ บางทีคนไข้ไปตรวจกับหมอแล้วหมอพบว่า หินปูนที่เกาะอยู่ในหูชั้นในหลุด ตรงนี้จะเป็นเรื่องของโรคเกี่ยวกับหูที่หมอจะแยกออกไปจากโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เมื่อแยกโรคออกแล้วคนไข้มาด้วยอาการเฉพาะจึงจะบอกได้ว่าคน ๆ นั้น เป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

          ลักษณะเฉพาะที่ว่านั้น คือ เวียนศีรษะคล้ายบ้านหมุน ร่วมด้วยหูอื้อ หรือมีเสียงในหูอื้อ ๆ ๆ อยู่ในหูตลอดเวลา อาจจะได้ยินข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง ก็แล้วแต่พยาธิสภาพว่าจะเป็นข้างเดียวหรือเป็นทั้ง 2 ข้าง โดยหูอื้อ อาจจะเป็นชั่วคราวหรือถาวรก็ได้ ถ้าเป็นระยะแรก จะสูญเสียการได้ยินโดยจะเป็นแค่ชั่วคราว หลังจากหายเวียนศีรษะแล้วการได้ยินจะกลับมาเป็นปกติ แต่ถ้าที่มีอาการวิงเวียนบ่อย ๆ หรือเป็นมานานอาการหูอื้อมักจะถาวร
 
          ที่สำคัญ คือ อาการมึนงง เวียนศีรษะคล้ายบ้านหมุนเหล่านี้จะเป็นอยู่ไม่นานมากนัก โดยจะมึนเวียนหัวอยู่ประมาณ 20 นาที ถึง 2 ชั่วโมงก็จะหาย แล้วไม่นานก็จะกลับมาปวดหัวหรือมีอาการ ดังกล่าวอีก โดยจะมีลักษณะเป็น ๆ หาย ๆ ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นลักษณะเฉพาะของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

          โรคนี้มีโอกาสเป็นได้ทุกเพศ และทุกวัย เพราะเป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด พบมากในวัยทำงานที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่มีปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการดำเนินโรคได้ โดยพบว่าอาหารที่มีปริมาณเกลือโซเดียมสูง หรืออาหารที่มีรสเค็ม สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการได้ เช่นเดียวกับ การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ความเครียด และสภาวะแวดล้อมที่มีเสียงดังอึกทึก

การรักษา

          เนื่องจากโรคนี้ไม่มีความจำเพาะของพยาธิสภาพ หมอจะรู้แต่เพียงว่าความดันในหูไม่เท่ากัน ส่วนใหญ่จะรักษาตามอาการที่ตรวจพบ โดยจะให้ยาขับปัสสาวะ เพื่อลดสภาวะอาการ บวมและคั่งของน้ำในหูชั้นใน รวมทั้งยาขยายหลอดเลือด ยาลดอาการเวียนศีรษะและคลื่นไส้อาเจียน ตลอดจนยากล่อมประสาท และยานอนหลับ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยผ่อนคลายและนอนหลับได้เป็นปกติ

การป้องกัน

          ทำได้โดย เมื่อทราบภาวะที่จะกระตุ้นให้เกิดโรคแล้ว อะไรที่เป็นภาวะเสี่ยงก็ ควรลดภาวะนั้น ๆ อาทิ หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา ชา กาแฟ การสูบบุหรี่ ลดการบริโภคอาหารที่มีรสชาติเค็ม นอกจากนี้ การปฏิบัติตัวเพื่อให้ลดภาวะและอาการของโรคเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในชีวิต ประจำวัน ได้แก่ ลดภาวะเครียด ควบคุมอารมณ์ให้เบิกบานแจ่มใส และลดงานบางอย่างที่มากจนเกินไป
   
          รวมทั้งหาเวลาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เช่น อยู่ในที่ที่มีเสียงดังเป็นเวลานาน ตลอดจน แสงแดดจ้าหรืออากาศที่ร้อนอบอ้าว
 
          นพ.วัชชิระ กล่าวทิ้งท้ายว่า เมื่อมีอาการของโรค อย่าตระหนกกับอาการ เพราะไม่ได้เป็นโรคที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยมากนัก ไม่ได้ทำให้ล้มหมอนนอนเสื่อ แต่ถ้าเป็นมากจนกระทั่งรบกวนการทำงาน ควรดูแลตนเองด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
 
          อย่าเครียด เมื่อรู้ว่าเครียดควรหาวิธีผ่อนคลายหยุดการทำงานสักพัก เมื่อดีขึ้นจึงค่อยกลับไปทำงานต่อ รวมทั้งลดการบริโภคอาหารรสเค็มจัด หลีกเลี่ยงอาหารที่ ใส่เกลือมาก ๆ ลดการดื่มสุรา หากมีอาการเวียนหัวบ้านหมุนเมื่อไรควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อแพทย์จะได้วินิจฉัยแยกโรคให้ชัดเจน จะได้ทำการรักษาได้อย่างถูกต้องและทันท่วงทีต่อไป

โรคไต

โรคไต




โรคไต หมายถึง โรคอะไรก็ได้ที่มีความผิดปกติหรือที่เรียกว่า พยาธิสภาพ เกิดที่บริเวณไต ที่พบมาก ได้แก่

- โรคไตวายฉับพลันจากเหตุต่างๆ

- โรคไตวายเรื้อรังเกิดตามหลังโรคเบาหวาน โรคไตอักเสบ หรือโรคความดันโลหิตสูง
 
- โรคไตอักเสบเนโฟรติก
 
- โรคไตอักเสบจากภาวะภูมิคุ้มกันสับสน (โรค เอส.แอล.อี.)
 
- โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
 
- โรคถุงน้ำที่ไต (Polycystic Kidney Disease)

อาการ

ปัสสาวะเป็นเลือด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโรคไต แต่ก็อาจจะไม่ใช่ก็ได้ โดยจะปัสสาวะเป็นเลือด อาจเป็นเลือดสดๆ เลือดเป็นลิ่มๆ
 
ปัสสาวะเป็นสีแดง สีน้ำล้างเนื้อ สีชาแก่ๆ หรือปัสสาวะเป็นสีเหลืองเข้ม ก็ได้
 
ปัสสาวะเป็นฟองมาก เพราะมี albumin หรือโปรตีนออกมามาก จะทำให้ปัสสาวะมีฟองขาวๆ เหมือนฟองสบู่
 
การมีปัสสาวะเป็นเลือด พร้อมกับมีไข่ขาว-โปรตีนออกมาในปัสสาวะพร้อมๆ กัน เป็นข้อสันนิฐาน ที่มีน้ำหนักมากว่าจะเป็นโรคไต
 
ปัสสาวะขุ่น อาจเกิดจากมี เม็ดเลือดแดง (ปัสสาวะเป็นเลือด) เม็ดเลือดขาว (มีการอักเสบ) มีเชื้อแบคทีเรีย (แสดงว่ามีการติดเชื้อ) หรืออาจเกิดจากสิ่งที่ร่างกายขับออกจากไต แต่ละลายได้ไม่ดี เช่น พวกผลึกคริสตัลต่างๆ เป็นต้น

การผิดปกติของการถ่ายปัสสาวะ เช่นการถ่ายปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะแสบ ปัสสาวะราด เบ่งปัสสาวะ อาการเหล่านี้ ล้วนเป็นอาการผิดปกติ ของระบบทางเดินปัสสาวะ เช่นกระเพาะปัสสาวะ ต่อมลูกหมาก และท่อทางเดินปัสสาวะ
 
การปวดท้องอย่างรุนแรง (colicky pain) ร่วมกับการมีปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะขุ่น หรือมีกรวดทราย แสดงว่าเป็นนิ่วในไต และทางเดินปัสสาวะ
 
การมีก้อนบริเวณไต หรือบริเวณบั้นเอวทั้ง 2 ข้าง อาจเป็นโรคไต เป็นถุงน้ำการอุดตันของไต หรือเนื้องอกของไต
 
การปวดหลัง ในกรณีที่เป็นกรวยไตอักเสบ จะมีอาการไข้หนาวสั่น และปวดหลังบริเวณไต คือ บริเวณสันหลังใต้ซี่โครงซีกสุดท้าย
 
อาการบวม โดยเฉพาะการบวมที่บริเวณ หนังตาในตอนเช้า หรือหน้าบวม ซึ่งถ้าเป็นมาก จะมีอาการบวมทั่วตัว อาจเกิดได้ในโรคไตหลายชนิด แต่ที่พบได้บ่อย โรคไตอักเสบชนิดเนฟโฟรติค ซินโดรม (Nephrotic Syndrome)
 
ความดันโลหิตสูง เนื่องจากไตสร้างสารควบคุมความดันโลหิต ประกอบกับไต มีหน้าที่รักษาสมดุลของน้ำ และเกลือแร่ในร่างกาย เพราะฉะนั้นความดันโลหิต สูงอาจเป็นจากโรคไตโดยตรง หรือในระยะไตวายมากๆ ความดันโลหิตก็จะสูง ได้
 
ซีดหรือโลหิตจาง เช่นเดียวกับความดันโลหิตสูง สาเหตุของโลหิตจางมีได้ หลายชนิด แต่สาเหตุที่เกี่ยวกับโรคไตก็คือ โรคไตวายเรื้อรัง (Chronic renal failure) เนื่องจากปกติ ไตจะสร้างสารอีริโธรโปอีติน (Erythopoietin) เพื่อไปกระตุ้นให้ไขกระดูก สร้างเม็ดเลือดแดง เมื่อเกิดไตวายเรื้อรัง ไตจะไม่สามารถสร้างสารอีริโธรโปอีติน (Erythopoietin) ไปกระตุ้นไขกระดูก ทำให้ซีด หรือโลหิตจาง มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หน้ามืด เป็นลมบ่อยๆ
อย่างไรก็ตาม ควรต้องไปพบแพทย์ ทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด เอ็กซ์เรย์ จึงจะพอบอกได้แน่นอนขึ้น ว่าเป็นโรคไตหรือไม่

สาเหตุ

เป็นมาแต่กำเนิด (Congenital) เช่นมีไตข้างเดียว หรือไตมีขนาดไม่เท่ากัน โรคไตเป็นถุงน้ำ (Polycystic kidney disease) ซึ่งเป็น กรรมพันธุ์ด้วย เป็นต้น
 
เกิดจากการอักเสบ (Inflammation) เช่นโรคของกลุ่มเลือดฝอยของไตอักเสบ (glomerulonephritis)
 
เกิดจากการติดเชื้อ (Infection) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเป็นส่วนใหญ่ เช่นกรวยไตอักเสบ ไตเป็นหนอง กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (จากเชื้อ โรค) เป็นต้น
 
เกิดจากการอุดตัน (Obstruction) เช่นจากนิ่ว ต่อมลูกหมากโต มะเร็งมดลูกไปกดท่อไต เป็นต้น
เนื้องอกของไต ซึ่งมีได้หลายชนิด

คำแนะนำ

1. กินอาหารโปรตีนต่ำ หรืออาหารโปรตีนต่ำมาก ร่วมกับกรดอะมิโนจำเป็น
โดยกินอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพสูง ซึ่งหมายถึงโปรตีน ที่ได้จากเนื้อสัตว์ทุกชนิด จำนวน 0.6 กรัม ของโปรตีน / น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม / วัน โดยไม่ต้องให้กรดอะมิโนจำเป็น หรือกรดคีโต (Keto Acid) เสริม เพราะอาหารโปรตีนในขนาดดังกล่าวข้างต้น ให้กรดอะมิโนจำเป็นในปริมาณที่พอเพียง กับความต้องการของร่างกายอยู่แล้ว
ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยซึ่งมีน้ำหนักตัวเฉลี่ย ประมาณ 50-60 กิโลกรัม ควรกินอาหาร ที่มีปริมาณโปรตีนสูงประมาณ 30-60 กรัม / วัน อาจจำกัดอาหารโปรตีน เพื่อชะลอการเสื่อมหน้าที่ ของไตได้อีกวิธีหนึ่ง โดยให้ผู้ป่วยกินอาหารโปรตีนต่ำมาก (0.4 กรัม / น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม / วัน) ร่วมกับกรดอะมิโนจำเป็น หรืออนุพันธ์คีโต (Keto Analog) ของกรดอะมิโนจำเป็น ในกรณีผู้ป่วยมีน้ำหนักเฉลี่ย 50-60 กิโลกรัม ควรกินโปรตีนประมาณ 20-25 กรัม / วัน เสริมด้วยกรดอะมิโนจำเป็น หรืออนุพันธ์ครีโตของกรดอะมิโนจำเป็น 10-12 กรัม / วัน
 
2.กินอาหารที่มีโคเลสเตอรอลต่ำ โดยผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายเรื้อรัง ควรควบคุมปริมาณโคเลสเตอรอล ในอาหารแต่ละวันไม่ให้เกิน 300 มิลลิกรัม / วัน ด้วยการจำกัดอาหาร ที่มีโคเลสเตอรอลมาก เช่น ไข่แดง เครื่องในสัตว์ทุกชนิด และนม เป็นต้น
 
3.งดกินอาหารที่มีฟอสเฟตสูง ฟอสเฟตมักพบในอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ ไข่แดง นม และเมล็ดพืชต่างๆ เช่น ถั่วลิสง เม็ดทานตะวัน เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เมล็ดอัลมอนด์ ควรหลีกเลี่ยงอาหารดังกล่าว พบว่าอาหารที่มีฟอสเฟตสูง จะเร่งการเสื่อมของโรคไตวายเรื้อรัง ให้รุนแรงมากขึ้น และมีความรุนแรงของ การมีโปรตีนรั่วทางปัสสาวะมากขึ้น นอกเหนือจากผลเสีย ต่อระบบกระดูกดังกล่าว
 
4.ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่ไม่มีอาการบวม การกินเกลือในปริมาณไม่มากนัก โดยไม่ต้องถึงกับงดเกลือโดยสิ้นเชิง แต่ไม่ควรกินเกลือเพื่อการปรุงรสเพิ่ม ผู้ป่วยที่มีอาการบวมร่วมด้วย ควรจำกัดปริมาณเกลือที่กินต่อวันให้น้อยกว่า 3 กรัมของน้ำหนักเกลือแกง (เกลือโซเดียมคลอไรด์) ต่อวัน ซึ่งทำได้โดยกินอาหารที่มีรสชาติจืด งดอาหารที่มีปริมาณเกลือมาก ได้แก่ เนื้อสัตว์ทำเค็ม หรือหวานเค็ม เช่น เนื้อเค็ม ปลาแห้ง กุ้งแห้ง รวมถึงหมูแฮม หมูเบคอน ไส้กรอก ปลาริวกิว หมูสวรรค์ หมูหยอง หมูแผ่น ปลาส้ม ปลาเจ่า เต้าเจี้ยว งดอาหารบรรจุกระป๋อง เช่น ปลากระป๋อง เนื้อกระป๋องข้างต้น

5. ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่มีน้ำหนักเกิน น้ำหนักจริงที่ควรเป็น (Ideal Weight for Height) ในคนปกติ ควรจำกัดปริมาณแคลอรี ให้พอเพียงในแต่ละวันเท่านั้น คือ ประมาณ 30-35 กิโลแคลอรี / น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม / วัน

วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

โรคมาลาเรีย (Malaria)

โรคมาลาเรีย (Malaria)



อะไรเป็นสาเหตุของโรค
โรคมีสาเหตุจากปรสิตสปอโรซัวใน genus Plasmodium ก่อโรคมาลาเรียในคนและสัตว์ เชื้อพลาสโมเดียมพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ปีก และ สัตว์เลื้อยคลาน รวม
พลาสโมเดียมทั้งหมดมากกว่า 120 ชนิด พลาสโมเดียมที่ก่อโรคในคนที่สำคัญมีเพียง 4 ชนิด ได้แก่ Plasmodium vivax, P. ovale, P. malariae, และ  P. falciparum
ว่า “มาลาเรีย” มีต้นกำเนิดมาจากในศตวรรษที่ 17 ที่มีคนเล่าลือถึง “Roman Airs”   แพทย์และคนอิตาเลียนต่างกล่าวว่า   อากาศเสียเป็น สาเหตุของไข้ และเรียกว่า mal'aria หมายถึง อากาศเสีย; ในเวลาใดเวลาหนึ่งในยุคกลางเครื่องหมาย ' หายไปกลายเป็น malaria ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่โรค แต่กล่าวถึงสาเหตุของโรค แต่ต่อมาเปลี่ยนแปลงจนปัจจุบันหมายถึงกลุ่มของโรคหรือไข้ที่เกิดจากปรสิตในตระกูลพลาสโมเดียม
วงจรชีวิตเป็นอย่างไร
วงจรชีวิตอาศัยคนและยุงก้นปล่อง การเจริญเติบโตของพลาสโมเดียมในยุงเป็นแบบอาศัยเพศ เรียกว่า “สปอโรโกนี” ในคนเป็นแบบไม่อาศัยเพศ เรียกว่า “ชิโซโกนี” และพลาสโมเดียมในเลือดคนยังมีการสร้างเซลล์เพศ เรียกว่า “แกมีโตไซโตโกนี”
การเจริญเติบโตของพลาสโมเดียมในคน เกิดในเซลล์ตับและในเซลล์เม็ดเลือดแดง
1. การเจริญของเชื้อในตับ: เมื่อยุงกัดคนระยะติดต่อของเชื้อในน้ำลายยุง เรียกว่า สปอโรซอยต์ มีลักษณะเรียวยาวคล้ายกระสวย ยาว 11-12 ไมโครเมตร กว้างประมาณ 1 ไมโครเมตร เข้าสู่กระแสโลหิต และไชเข้าเซลล์ตับ เปลี่ยนรูปร่างเป็นกลมรีและโตขึ้นมีการแบ่งนิวเคลียสเป็นหลาย ๆ ก้อน ระยะนี้เรียกว่าชิซอนต์ ต่อมาเมื่อเจริญเต็มที่จะแบ่งแยกตัวได้ เมโรซอยต์ รูปร่างกลมรีขนาด 1.5-2 ไมโครเมตร จำนวนหลายตัว เมโรซอยต์นี้จะเข้าสู่เม็ดเลือดแดงต่อไป การเจริญในตับกินเวลา 5-16 วัน

  

2. การเจริญเติบโตในเม็ดเลือดแดง เมโรซอยต์จากเซลล์ตับเข้าในเม็ดเลือดแดง และเติบโตระหว่างการเติบโตจะมีรูปร่างเปลี่ยนไป เริ่มแรกมีรูปร่างวงแหวน จึงเรียกกันทั่วไปว่าระยะวงแหวน “ring form”, เมื่อเจริญเต็มที่เรียกว่าซิซอนต์เต็มวัย มีเมโรซอยต์เกิดเป็นตัวเรียบร้อยแล้ว     จำนวนเมโรซอยต์ในเม็ดเลือดแดง มีจำนวน 4-24 ตัว ขึ้นกับชนิดของพลาสโมเดียม เมโรซอยต์จากชิซอนต์เต็มวัยออกมาในกระแสโลหิต และจะเข้าเม็ดเลือดแดงตัวใหม่ต่อไป เจริญเติบโตอีกครั้งหนึ่ง เป็นวงจรซ้ำ ๆ เช่นนี้ เรียกว่า วงเม็ดเลือดแดง erythrocytic (ER) schizogony หรือ cycle
ระยะเวลาที่ใช้ในแต่ละวงจรจะเป็นทวีคูณของ 24 ชั่วโมง แล้วแต่ชนิดของพลาสโมเดียม คือ   48 ชั่วโมง ใน P. falciparum, P. vivax,  P. ovale และ  72 ชั่วโมง  ใน P. malariae       
เมโรซอยต์ที่เข้าเม็ดเลือดแดงบางตัวไม่เข้าสู่การเจริญเติบโตแบ่งตัว แต่จะกลายเป็นระยะแกมีโตไซต์ ซึ่งมีเพศผู้และเมีย เพศเมียเรียกว่า แมโครแกมีโตไซต์, เพศผู้เรียกว่าไมโครแกมีโตไซต์  กระบวนการสร้างแกมีโตไซต์เรียกว่า แกมีโตไซโตโกนี 

ภาพแสดงเชื้อระยะต่าง ๆ ในเม็ดเลือดแดงย้อมสียิมซ่า









 การเจริญเติบโตของเชื้อพลาสโมเดียมในยุงก้นปล่อง 
ยุงก้นปล่องกินเลือดที่มีแกมีโตไซต์เข้าในกระเพาะ แมโครแกมีโตไซต์กลายเป็น แมโครแกมีต ซึ่งลักษณะทั่วไปไม่เปลี่ยนไปจากเดิม ส่วนไมโครแกมีโตไซต์เปลี่ยนสภาพไปอย่างสมบูรณ์ โดยงอกเส้นออกมา 8 เส้น แต่ละเส้นก็คือไมโครแกมีต ขบวนการงอกเส้นนี้เรียกว่า exflagellation ไมโครแกมีตเข้ารวมตัวกับ แมโครแกมีต กลายเป็นไซโกตซึ่งตัวยาวออกคล้ายหนอนเคลื่อนที่ได้ภายใน 18-24 ชั่วโมง เรียกตัวนี้ว่า  โอโอไคนีต ซึ่งจะไชผนังกระเพาะยุงสู่ด้านนอก กลายเป็น โอโอซิสต์ ซึ่งเติบโตจนสุดท้ายสร้างสปอโรซอยต์มากมาย; เมื่อโอโอซิสต์แตก สปอโรซอยต์เข้าสู่ ต่อมน้ำลายเจริญเป็นสปอโรซอยต์ระยะติดต่อ 
การเจริญเติบโตของพลาสโมเดียมในยุงกินเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ 
อาการของมาลาเรียเป็นอย่างไร 
อาการเริ่มแรกของมาลาเรียไม่จำเพาะ จะเป็นอาการคล้ายไข้หวัด เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ไอ แต่สักระยะหนึ่งที่เชื้อแต่ละตัวแบ่งตัวสอดคล้องกันดีแล้ว ผู้ป่วยจะมีไข้เป็นช่วงระยะอย่างสม่ำเสมอ แต่ละช่วงเรียกว่าแพร็อกซิซึม (paroxysm) ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่:
(1) ระยะหนาวสั่น: ผู้ป่วยมีอุณหภูมิร่างกายลดลง มีอาการหนาวสั่น กินเวลา 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง  (2) ระยะไข้ตัวร้อน: ผู้ป่วยมีไข้สูง 40-41 เซลเซียส เป็นเวลา 1-4 ชั่วโมง (3) ระยะออกเหงื่อ กินเวลานาน 1-2 ชั่วโมง จากนั้นอุณหภูมิร่างกายปกติ เป็นช่วงปราศจากไข้ (apyrexia) จากนี้แล้ว paroxysm เกิดใหม่ เป็นเช่นนี้เรื่อยไป 
สำหรับ P. vivax และ P. ovale นั้น ทำให้มีไข้ทุก ๆ 48 ชั่วโมง หรือเรียกว่ามีไข้วันเว้นวัน ส่วน P. malariae นั้น ทำให้มีไข้วันเว้นสองวัน 
ไข้กลับ 
หลังเป็นไข้ครั้งแรกจนหายจากอาการของมาลาเรียดีแล้ว อาจเป็นไข้มาลาเรียอีกครั้งหนึ่ง ทั้งที่ไม่ถูกยุงกัด ปรากฏการณ์นี้ เรียกว่า ไข้กลับ (relapse) ซึ่งมี สาเหตุจากเชื้อที่กบดานอยู่ในตับ หรือ เกิดจากการมีเชื้อหลงเหลืออยู่ในกระแสโลหิต แต่มีระดับต่ำกว่าการตรวจฟิล์มเลือดจะสามารถตรวจพบได้ 
มาลาเรียที่มีอาการรุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อน (severe and complicated malaria) 
โดยมากเกิดจาก P. falciparum มักเกิดในเด็ก แต่อาจเกิดกับผู้ใหญ่ได้ด้วยโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ไม่มีภูมิต้านทานต่อมาลาเรียเลย 
อาการมีอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้: (1) มาลาเรียขึ้นสมอง  (2) โลหิตจางอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญในเด็ก, (3) ไตวาย (4) ปอดบวมน้ำ  (5) น้ำตาลในเลือดต่ำ (6) ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลวหรือช็อค มีความดันโลหิตต่ำ ตัวเย็น, (7) เลือดออกตามเหงื่อ จมูก ฯลฯ (8) ชัก (9) เลือดเป็นกรด (10) ปัสสาวะดำ

พบโรคที่ใดบ้าง


มาลาเรียพบได้ถึงละติจูดที่ 64 องศาเหนือถึง 32 องศาใต้ 
พบทั้งเขตร้อนและเขตอบอุ่น โดยทั่วไปพบความชุกของเชื้อสูง
เรียงตามลำดับดังนี้ P. falciparum, P. vivax, P. malariae, P. ovale

มาลาเรียพบได้ในกว่า 100 ประเทศ แต่กว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วย
อยู่ในแอฟริกา มีผู้เสียชีวิตประมาณปีละล้านคน

ในประเทศไทยพบโรคชุกชุมแถวชายแดนเนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นป่า
และมีการเดินทางข้ามไปมาของเพื่อนบ้านซึ่งติดเชื้อ

อัตราเสียชีวิตของเด็กที่เป็นมาลาเรียขึ้นสมองอยู่ระหว่าง 10-40% ส่วนใหญ่จะเสียชีวิตในช่วง 24 ชั่วโมง แรกของการรักษา

โรคมาลาเรียแพร่โดยวิธีใด  
การแพร่โรคมาลาเรีย อาจเกิดโดย (1) การแพร่ในธรรมชาติ (natural transmission) เกิดจากการถูกยุงกัด เป็นวิธีหลัก (2) การแพร่โดยบังเอิญ (accidental transmission) เช่น การถ่ายเลือด, การใช้เข็มฉีดยาร่วมกันในผู้เสพยาเสพติด (3) การแพร่ผ่านทางรก (congenital transmission) พบน้อยมาก (4) การแพร่โดยเจตนา (deliberate transmission) เช่น ใช้มาลาเรียรักษาโรคซิฟิลิส โดยเอาเลือดจากผู้ป่วยมาลาเรียให้แก่ผู้ป่วยเป็นซิฟิลิสขึ้นสมอง

ป้องกันและควบคุมโรคอย่างไร

(1) ป้องกันไม่ให้ยุงกัดโดยนอนในมุ้งหรือมุ้งชุบน้ำยากันยุง หรือทาสารกันยุง (2) ทำลายแหล่งแพร่ยุง เช่นที่น้ำขัง 
(3) หลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่มีมีการแพร่โรคสูง หากจำเป็นอาจกินยาป้องกันก่อนเข้าไป
ในพื้นที่ และเมื่อออกมาแล้วตรวจเลือดหาเชื้อ (4) แรงงานหรือกลุ่มคนที่เคลื่อนย้ายมาจาก
ประเทศเพื่อนบ้านต้องได้รับการตรวจหาเชื้อและถ้าพบต้องรักษา

จะวินิจฉัยโรคมาลาเรียได้โดยวิธีใด 
โดยทั่วไปทำได้โดยการตรวจเลือดหาเชื้อภายใต้กล้องจุลทรรศน์  การตรวจแบบนี้ต้องย้อมสีเลือดให้เห็นตัวเชื้อ วิธีที่ยังยอมรับกันว่าเป็นวิธีมาตรฐานเพื่อวินิจฉัยโรคมาลาเรีย คือการตรวจดูฟิล์มเลือดที่ย้อมสี ยิมซา (Giemsa) 
อีกวิธีหนึ่งคืออาศัยชุดตรวจหาแอนติเจนของเชื้อซึ่งมีจำหน่ายแต่ราคาค่อนข้างแพง เพียงหยดเลือดลงในแผ่นที่เตรียมมาให้แล้วดูแถบสีที่เกิดขึ้นก็จะบอกได้ว่าเป็นโรคหรือไม่ เป็นวิธีที่สะดวกและรวดเร็ว

รักษาอย่างไร 
มียาฆ่าเชื้อพลาสโมเดียมทั้งในตับหรือในเม็ดเลือดแดง ยาที่ใช้ในการรักษาไข้มาลาเรียมีหลายขนาน เช่น คลอโรควิน เมโฟลควิน อาร์ทีเมเทอร์ เตตราชัยคลิน เป็นต้น การให้ยาขนานใดขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ชนิดของเชื้อ เชื้อดื้อยา ระยะของโรค ความรุนแรงของโรค จึงต้องปรึกษาแพทย์ ผู้ป่วยมาลาเรียชนิดรุนแรงต้องให้การรักษาพยาบาลอย่างอื่นเสริมด้วย

โรคหัวใจ Heart Disease

โรคหัวใจ Heart Disease



หัวใจคนเรามี 4 ห้อง แบ่งซ้าย - ขวา โดยผนังของกล้ามเนื้อหัวใจ และแบ่งเป็นห้องบน –ล่างโดยลิ้นหัวใจ ในทุกๆ วัน หัวใจคนเราจะเต้นประมาณ 100,000 ครั้ง และสูบฉีดเลือดประมาณวันละ 2,000 แกลลอน เปรียบเสมือนการทำงานปกติของ "หัวใจ" แต่ถ้าวันหนึ่ง... หัวใจเราเกิดอาการผิดปกติขึ้นมาล่ะ จะทำอย่างไร...?

          ทั้งนี้ นายแพทย์สุรพันธ์ สิทธิสุข แพทย์จากหน่วย โรคหัวใจ และหลอดเลือด คณะแพทย์ศาสตร์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า อาการผิดปกติเบื้องต้นของร่างกาย ซึ่งอาจเป็นข้อบ่งชี้ว่า มีอัตราเสี่ยงต่อการเป็น โรคหัวใจ สามารถแบ่งได้หลายชนิด ดังนี้

 โรคหัวใจ ที่อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน...

          คือ อาการผิดปกติเบื้องต้นของร่างกาย ที่บ่งชี้ว่าอาจเป็น โรคหัวใจ พบบ่อยในคนทั่วไป ที่คิดว่าตัวเองมีสุขภาพดี ทั้งที่ความจริงอาจเป็นโรคหัวใจในระยะแรกเริ่ม มีดังนี้

           1. เหนื่อยเวลาออกกําลังกาย เพราะหัวใจทําหน้าที่ในการสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ขณะที่เราออกกําลังกาย หัวใจจะทํางานหนักมากขึ้น ปกติเวลาที่เราออกกำลังกายไปถึงระดับหนึ่งจะรู้สึกเหนื่อย แต่ในรายของคนที่มีอาการเริ่มต้นของ โรคหัวใจ แม้ออกกำลังกายเพียงเล็กน้อย จะรู้สึกเหนื่อยผิดปกติอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ดังนั้นหากออกกำลังกาย แล้วรู้สึกเหนื่อยง่ายผิดปกติ อาจเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่า คุณอาจเป็น โรคหัวใจ

           2. เจ็บหน้าอกหรือแน่นหน้าอก มักพบบ่อยในคนที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และไขมันอุดตันในหลอดเลือดหัวใจ อาการดังกล่าวจะมีลักษณะเฉพาะคือ รู้สึกเหมือนหายใจอึดอัด และแน่นบริเวณกลางหน้าอก เหมือนมีของหนักทับอยู่ หรือรัดไว้ให้ขยายตัวเวลาหายใจ โดยมากอาการนี้ จะแสดงออกเวลาที่หัวใจต้องทำงานหนัก เช่น ระหว่างการออกกำลังกาย หรือใช้แรงมากๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนว่า อาจเป็น โรคหัวใจ

           3. ภาวะหัวใจล้มเหลว เกิดจากการที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างของร่างกายได้อย่างเพียงพอ โดยผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเหนื่อย ทั้งที่ออกกำลังกายเพียงนิดหน่อย หรือเหนื่อยทั้งที่นั่งอยู่เฉยๆ ในกรณีที่เป็นมาก อาจทำให้ไม่สามารถนอนราบได้เหมือนปกติ เพราะจะรู้สึกเหนื่อยเวลาหายใจ และอึดอัดตรงหน้าอก นอกจากนั้น อาจมีอาการหอบจนต้องตื่นขึ้นมาหอบกลางดึกอีกด้วย อาการภาวะหัวใจล้มเหลวนี้ หากไม่รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว และไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้

           4. ใจสั่นและหัวใจเต้นผิดจังหวะ ปกติหัวใจของเราจะเต้นด้วยจังหวะที่สม่ำเสมอประมาณ 60 -100 ครั้ง/นาที แต่สำหรับคนที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจขยับไปถึง150 -250 ครั้ง/นาที ซึ่งอัตราการเต้นของหัวใจที่ไม่สม่ำเสมอนี้ จะทำให้เหนื่อยง่าย ใจสั่น หายใจไม่ทัน

           5. เป็นลมหมดสติ คืออีกหนึ่งอาการที่เตือนว่าคุณอาจเป็น โรคหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ ซึ่งมีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นลมหมดสติสูง เนื่องจากจังหวะการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ เพราะเซลล์ซึ่งทำหน้าที่ให้จังหวะไฟฟ้าในหัวใจเสื่อมสภาพ ส่งผลให้หัวใจเต้นช้าลง และส่งเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ จนทำให้เป็นลมไปชั่วคราวได้ ทั้งนี้ การเป็นลมหมดสติ มักจะเกิดในท่ายืนมากกว่านั่ง ทำให้ขณะล้มลงศีรษะมีโอกาสฟาดพื้น และเกิดการกระทบกระเทือนต่อสมองได้มากกว่า ดังนั้น ใครที่เป็นลมบ่อยๆ ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็น โรคหัวใจ ได้

           6. หัวใจหยุดเต้นกะทันหัน ในกรณีนี้มักเกิดจากความผิดปกติของเซลล์หัวใจโดยตรง และมักเกิดกับคนปกติที่ไม่มีอาการของ โรคหัวใจ มาก่อนล่วงหน้า ซึ่งหากมีอาการหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือที่รวดเร็ว อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

 โรคหัวใจ ที่อาการผิดปกติที่สังเกตได้จากร่างกาย...

          นอกจากความผิดปกติชนิดเฉียบพลันแล้ว อาการบ่งชี้ที่สังเกตได้จากร่างกายของเราเอง ก็เป็นอีกหนึ่งความผิดปกติที่เตือนให้รู้ว่า คุณอาจเป็น โรคหัวใจ และควรไปพบแพทย์โดยด่วนได้เช่นกัน เป็นต้นว่า...

           1. ขาหรือเท้าบวมโดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อกดดูแล้วมีรอยบุ๋มตามนิ้วที่กดลงไป ซึ่งหากเกิดขึ้นกับใคร ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คโดยด่วน เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนให้รู้ว่า เวลานี้คุณอาจอยู่ในภาวะหัวใจล้มเหลวโดยที่ไม่รู้ตัว
               
           2. ปลายมือ ปลายเท้า และริมฝีปากมีลักษณะเขียวคล้ำ อาการดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ทางเดินของเลือดในหัวใจห้องขวากับห้องซ้ายมีการเชื่อมต่อที่ผิดปกติ ส่งผลให้เกิดการผสมของเลือดแดงกับเลือดดํา และทําให้ปริมาณของออกซิเจนในเลือดมีปริมาณน้อยลง

 โรคหัวใจ ที่อาการผิดปกติที่ตรวจพบขณะตรวจร่างกาย...

          การไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพประจำปี เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้เราสามารถคาดคะเนความเสี่ยงต่อการเกิด โรคหัวใจ ได้ เช่น ตรวจเลือดแล้วพบว่าเป็นเบาหวาน หรือมีไขมันในเลือดสูง ก็อาจสันนิษฐานได้ว่า มีความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบได้เช่นกัน หรือเอ็กซเรย์แล้วพบว่า ขนาดของหัวใจโตกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่ว และกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวอ่อนกำลังลง ทำให้ห้องต่างๆ ของหัวใจขยายขนาดใหญ่ขึ้น ทั้งนี้ ในกรณีที่ตรวจพบว่ามีความเสี่ยงสูง ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

 ป้องกัน โรคหัวใจ อย่างไรดี...
         
          ข้อมูลที่ได้บอกไปข้างต้น เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่า เรามีอัตราเสี่ยงสูงต่อการป่วยเป็น โรคหัวใจ เท่านั้น ซึ่งผู้ที่จะวินิจฉัยว่าเราเป็น โรคหัวใจ หรือไม่ คือแพทย์ โรคหัวใจ เท่านั้น ดังนั้นหากพบความผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วนดีที่สุด

 สำหรับคนที่หัวใจยังเป็นปกติ เรามีข้อแนะนำในการดูแลหัวใจ (ก่อนสายเกินไป) ดังนี้ค่ะ

           สังเกตความผิดปกติของตัวเองอยู่เสมอ โดยเฉพาะอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน เช่น ดูว่าอัตราการเต้นของหัวใจปกติดีหรือไม่ เจ็บหน้าอก ใจสั่นบ่อยๆ หรือเปล่า เป็นต้น
               
           ออกกำลังกายเป็นประจำ ซึ่งนอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ สุขภาพจิตแจ่มใสแล้ว ยังช่วยให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ดีขึ้นอีกด้วย

           ดูแลสุขภาพใจให้ผ่องใสอยู่เสมอ พยายามไม่เครียด รู้จักควบคุมอารมณ์ และพึงระลึกไว้เสมอว่า ความเครียดและความโกรธ เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้หัวใจเต้นแรง และทำงานหนักขึ้น

           รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยงดอาหารที่มีไขมันสูง ซึ่งทำให้ความดันโลหิตสูง เกิดภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบได้ง่าย และหันไปกินผักผลไม้ให้มากขึ้น
               
           ควรไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันและรักษาโรคร้ายที่อาจคาดไม่ถึง เช่น โรคหัวใจ ซึ่งแฝงอยู่ในตัวเราตั้งแต่เนิ่นๆ

          ... ยามใดที่ร่างกายอ่อนล้า เราหยุดพักให้หายเหนื่อยได้... แต่ยามใดที่หัวใจอ่อนแรง มันก็ยังคงเดินต่อไป ทำงานต่อไป... เพราะฉะนั้น เมื่อรู้ว่า "หัวใจ" คนเราไม่เคยหยุดพัก อย่าลืมดูแลรักษามันไว้ให้ดีๆ นะคะ เพือจะได้ไม่เป็น โรคหัวใจ ค่ะ

เบาหวาน Diabetes

เบาหวาน Diabetes



เบาหวาน เป็นความผิดปกติของร่างกายที่มีการผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ หรือร่างกายเกิดภาวะดื้ออินซูลิน อันส่งผลทำให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงกว่าปกติ[2] โรคนี้มีความรุนแรงสืบเนื่องมาจากการที่ร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลได้อย่างเหมาะสม โดยปกติน้ำตาลจะเข้าสู่เซลล์ร่างกายเพื่อใช้เป็นพลังงานภายใต้การควบคุมของฮอร์โมนอินซูลิน ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานจะไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลที่เกิดขึ้นทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นมาก ในระยะยาวจะมีผลในการทำลายหลอดเลือด ทำลายระบบประสาทส่วนปลาย ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่สภาวะแทรกซ้อน

สาเหตุของโรคเบาหวาน

เบาหวานเกิดได้จากหลายสาเหตุ  มักไม่ได้เป็นจากสาเหตุใดสาเพตุหนึ่ง  แต่เป็นจากหลายหลายสาเหตุร่วมกัน  ได้แก่

1. กรรมพันธุ์
เบาหวานมีสาเหตุจากกรรมพันธุ์ส่วนหนึ่ง  แต่ผู้ที่มีญาติสายตรง อาทิเช่นพ่อ  แม่  พี่  น้อง  เป็นเบาหวานก็ไม่จำเป็นต้องป่วยเป็น
โรคเบาหวานทุกราย  ทั้งนี้ขึ้นกับการควบคุมดูแลปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่น

2. โรคอ้วน
ผู้ที่มีน้ำหนักมาก  ไขมันส่วนเกินจะสร้างสารที่ทำให้การตอบสนองของเนื้อเยื่อร่างกายต่ออินซูลินไม่ดี  หรือนัยหนึ่ง เกิดภาวะ
ดื้อต่ออินซูลินขึ้น

3. ผู้สูงอายุ
เมื่ออายุมากขึ้น  ตับอ่อนจะเสื่อมการทำงานลง  ทำให้การสังเคราะห์และการหลั่งอินซูลินลดลง

4. โรคของตับอ่อน
เช่น ภาวะตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง จากการดื่มเหล้า   ยา  หรือไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง

5. การติดเชื้อไวรัสบางชนิดเมื่อยังเป็นเด็ก
เช่น  หัด  หัดเยอรมัน  คางทูม  โดยพบว่า เด็กที่ป่วยเป็นโรคดังกล่าว มีโอกาสเป็นเบาหวานเมื่อายุมากขึ้น  เมื่อเทียบกับเด็กที่
ไม่ได้ป่วย

6. การได้รับยาบางชนิด
เช่น  สเตียรอยด์  ยาขับปัสสาวะ  ยาคุมกำเนิดบางชนิด  ซึ่งยาเหล่านี้ทำให้มีการสร้างน้ำตาลที่ตับมากขึ้น  หรือเกิดการตอบ
สนองของอินซูลินแย่ลง

7. การตั้งครรภ์
เนื่องจากขณะตั้งครรภ์จะมีการฮอร์โมนจากรก  ซึ่งมีผลต่อต้านการทำงานของอินซูลิน

อาการของคนที่เป็นโรคเบาหวานเกิดจากการที่น้ำตาลในเลือดสูง ทำให้ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักลด หิวเก่ง อ่อนเพลีย

อาการของโรคเบาหวาน

คนปกติก่อนรับประทานอาหารเช้าจะมีระดับน้ำตาลในเลือด 70-110 มก.% หลังรับประทานอาหารแล้ว 2 ชม.ระดับน้ำตาลไม่เกิน 140 มก.% ผู้ที่ระดับน้ำตาลสูงไม่มากอาจจะไม่มีอาการอะไร การวินิจฉัยโรคเบาหวานจะทำได้โดยการเจาะเลือด อาการที่พบได้บ่อย

คนปกติมักจะไม่ต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะในเวลากลางดึก หรือปัสสาวะอย่างมากไม่เกิน 1 ครั้ง เมื่อน้ำตาลในกระแสเลือดมากกว่า180มก.% โดยเฉพาะในเวลากลางคืนน้ำตาลจะถูกขับออกทางปัสสาวะ ทำให้น้ำถูกขับออกมากขึ้น จึงมีอาการปัสสาวะบ่อยและเกิดการสูญเสียน้ำ และอาจจะพบว่าปัสสาวะมีมดตอม
ผู้ป่วยจะหิวน้ำบ่อยเนื่องจากต้องทดแทนน้ำที่ถูกขับออกทางปัสสาวะ
อ่อนเพลีย น้ำหนักลดเกิดเนื่องจากร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาล จึงย่อยสลายส่วนที่เป็นโปรตีนและไขมันออกมา
ผู้ป่วยจะกินเก่งหิวเก่ง แต่น้ำหนักจะลดลงเนื่องจากร่างกายนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานไม่ได้ จึงมีการสลายพลังงานจากไขมันและโปรตีนจากกล้ามเนื้อ
อาการอื่นๆที่อาจเกิดได้แก่ การติดเชื้อ แผลหายช้า คันตามผิวหนัง มีการติดเชื้อรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณช่องคลอดของผู้หญิง สาเหตุของอาการคันเนื่องจากผิวแห้งไป หรือมีการอักเสบของผิวหนัง
เห็นภาพไม่ชัด ตาพร่ามัวต้องเปลี่ยนแว่นบ่อย ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะมีการเปลี่ยนแปลงสายตา เช่นสายตาสั้น ต่อกระจก น้ำตาลในเลือดสูง
ชาไม่มีความรู้สึก เจ็บตามแขนขาหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เนื่องจากน้ำตาลสูงนานๆทำให้เส้นประสาทเสื่อม เกิดแผลที่เท้าได้ง่าย เพราะไม่รู้สึกอาเจียน
น้ำตาลในกระแสเลือดสูงเมื่อเป็นโรคนี้ระยะหนึ่งจะเกิดโรคแทรกซ้อนที่เกิดกับหลอดเลือดเล็กเรียก microvacular หากมีโรคแทรกซ้อนนี้จะทำให้เกิดโรคไต เบาหวานเข้าตา  หากเกิดหลอดเลือดเลือดแดงใหญ่แข็งเรียก macrovascular โดยจะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อัมพาต หลอดเลือดแดงที่ขาตีบนอกจากนั้นยังอาจจะเกิดปลายประสาทอักเสบ neuropathic ทำให้เกิดอาการชาขา กล้ามเนื้ออ่อนแรง ประสาทอัตโนมัติเสื่อม

การป้องกันและรักษาโรคเบาหวาน

ปัจจุบันมีหลักฐานทางการแพทย์สนับสนุนอย่างชัดเจนว่า เบาหวานชนิดที่ ๒ เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานมีปัจจัยหลายประการ ซึ่งบางประการไม่สามารถแก้ไขได้ ได้แก่ พันธุกรรม เชื้อชาติ และอายุที่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหลายประการก็สามารถแก้ไข หรือป้องกันได้ เช่น การมีกิจกรรมทางกายน้อย หรือไม่มีกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกาย การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ น้ำหนักตัวที่มากเกินไป หรืออ้วน หรืออ้วนลงพุง

การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอเป็นวิถีการดำรงชีวิตในรูปแบบที่สร้างเสริมสุขภาพ

ดังนั้นการป้องกันคือ การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตหรือวิถีการดำรงชีวิตในรูปแบบที่สร้างเสริมสุขภาพ ได้แก่ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน หากน้ำหนักมากเกินไปต้องลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย หรือการมีกิจกรรมทางกายอย่างเหมาะสม เพียงพอ และสม่ำเสมอ รับประทานอาหารตามสุขบัญญัติ หรืออาหารสุขภาพ ไม่สูบบุหรี่หรือไม่อยู่ในที่ที่ต้องสูดควันบุหรี่เป็นประจำ เหล่านี้เป็นวิธีที่ได้ผล และดีที่สุดสำหรับการป้องกันโรคเบาหวาน แต่ในกรณีที่ปัจจัยทางพันธุกรรมและเชื้อชาติมีผลกระทบสูง การป้องกันอาจไม่สัมฤทธิผลแต่สามารถชะลอการเกิดโรคเบาหวานได้

๑. การลดปริมาณอาหาร หรือการลดน้ำหนัก

หลักสำคัญในการลดน้ำหนักคือ ต้องลดปริมาณอาหารลง เพื่อให้จำนวนแคลอรีที่ได้รับต่อวันน้อยกว่าที่ร่างกายใช้ คือต้องรับประทานแคลอรีน้อยลงวันละ ๕๐๐ - ๑,๐๐๐ กิโลแคลอรี ซึ่งจะทำให้น้ำหนักลดลงได้ประมาณ ๐.๔๕ - ๐.๙ กิโลกรัมต่อสัปดาห์ ปริมาณอาหารที่ควรลดในเบื้องต้นคือ อาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล ไขมัน และควรออกกำลังกาย หรือมีกิจกรรมทางกาย ที่เหมาะสม เพียงพอ และสม่ำเสมอ นอกจากนี้อาหารที่รับประทานควรเป็นอาหารตามหลักโภชนาการ หรืออาหารสุขภาพ

อาหารสุขภาพ

การรับประทานอาหารนอกจากต้องจำกัดปริมาณหรือจำนวนแล้ว ยังต้องคำนึงถึงคุณภาพของอาหารด้วย อาหารสุขภาพคือ อาหารประจำวันที่มีหลากหลาย และมีสารอาหารครบทุกหมู่ ซึ่งประกอบด้วย อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน ผัก ผลไม้ และน้ำนม อย่างครบถ้วนและได้สัดส่วน คือ มีคาร์โบไฮเดรตร้อยละ ๕๐ - ๖๐ โปรตีนร้อยละ ๑๕ (หรือร้อยละ ๑๒ - ๒๐) และไขมันร้อยละ ๒๕ - ๓๕ รวมทั้งจำกัดการรับประทานน้ำตาล เกลือ แอลกอฮอล์ และคาเฟอีนในแต่ละวัน หลังการรับประทานอาหาร ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้นมากหรือน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับปริมาณ และชนิดของอาหารคาร์โบไฮเดรตที่รับประทาน 

อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ประกอบด้วย ข้าว แป้ง ถั่วต่างๆ และน้ำตาล การเลือกรับประทานอาหารที่ไม่หวานจัดและมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตพอควร มีแนวโน้มที่จะป้องกันการเกิดโรคเบาหวานได้ และอาหารที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตต่ำยังเหมาะสำหรับการลดน้ำหนักด้วย ที่แนะนำให้รับประทาน เช่น ข้าวซ้อมมือ ข้าวโอ๊ต วุ้นเส้น เส้นหมี่ ก๋วยเตี๋ยว ข้าวโพด เผือก มะกะโรนี สปาเก็ตตี และควรหลีกเลี่ยงข้าวขาว ข้าวเหนียว ขนมปังขาว แครกเกอร์ มันฝรั่ง มันสำปะหลัง ฟักทอง เพราะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นมากกว่าอาหารกลุ่มแรก สำหรับข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีต ถั่วต่างๆ มีใยอาหารอยู่ด้วย จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่ขึ้นสูงมาก แต่ถั่วบางชนิดก็มีไขมันมากหากจะรับประทานต้องจำกัดจำนวน เช่น ถั่วลิสง มะม่วงหิมพานต์ อัลมอนด์ แมคาเดเมีย   

อาหารประเภทไขมัน ได้แก่ กะทิ น้ำมันที่ใช้ประกอบอาหารทุกชนิด ไขมันสัตว์ประเภทต่างๆ และไขมันที่อยู่ในเนื้อสัตว์ ที่ไม่ติดมัน ซึ่งมีความแตกต่างกันในโครงสร้างของกรดไขมันที่ประกอบอยู่ และปริมาณคอเลสเตอรอล แม้ว่าน้ำมัน และไขมันจากพืช รวมทั้งกะทิจะไม่มีคอเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบ แต่สามารถทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดเพิ่มขึ้นได้ หากรับประทานมากเกินไป น้ำมันหรือไขมันทุกชนิดจะมีกรดไขมันเป็นส่วนประกอบในอัตราส่วนแตกต่างกันไป โดยแบ่งเป็น ๓ ประเภทใหญ่ คือ

๑. ไขมันประเภทอิ่มตัว (saturated fat)

คือ ไขมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัวเป็นส่วนประกอบหลัก และกรดไขมันชนิดอื่นๆ เพียงเล็กน้อย ได้แก่ ไขมันจากสัตว์ทุกชนิด น้ำมันพืชที่สกัดจากปาล์ม มะพร้าว และน้ำกะทิ ไขมันประเภทนี้ถ้ารับประทานมากทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น และมีผลต่อการย่อยสลายกลูโคสในกล้ามเนื้อลาย เนื่องจากเกิดภาวะดื้ออินซูลินในระยะยาวอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น

๒. ไขมันประเภทไม่อิ่มตัวหนึ่งตำแหน่ง (mono-unsaturated fat) 

คือ ไขมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวหนึ่งตำแหน่งเป็นส่วนประกอบหลัก ได้แก่ ไขมันที่สกัดจากมะกอกโอลีฟ ถั่วลิสง รำข้าว ไขมันประเภทนี้ไม่มีผลต่อระดับคอเลสเตอรอลในเลือด มีผลการวิจัยบ่งชี้ว่า น้ำมันจากมะกอกโอลีฟ ทำให้ระดับแอลดีแอลคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดลดลงได้

๓. ไขมันประเภทไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (polyunsaturated fat) 

คือ ไขมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งเป็นส่วนประกอบหลัก ได้แก่ น้ำมันข้าวโพด น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันเมล็ดทานตะวัน น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันที่ได้จากปลาทะเลชนิดต่างๆ  

อาหารประเภทโปรตีน คือ เนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ รวมทั้งเครื่องใน ไข่ และน้ำนม พืชบางชนิดมีโปรตีนเช่นกัน เช่น ถั่ว เมล็ดธัญพืชต่างๆ แต่มีในปริมาณน้อย และมีกรดอะมิโนจำเป็น (essential amino acid) ไม่ครบถ้วน แนะนำให้รับประทานเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดหนังและมีไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา เนื้อไก่ วันละ ๑๐๐ - ๒๐๐ กรัม ขึ้นอยู่กับพลังงานต่อวันที่ควรได้รับ ร่วมกับไข่ วันละ ๑/๒ - ๑ ฟอง และโปรตีนจากพืช จำกัดการรับประทานอาหารทะเลยกเว้นปลา หลีกเลี่ยงหรืองดเนื้อสัตว์ติดมันและเครื่องในสัตว์ เนื่องจากส่วนใหญ่มีปริมาณคอเลสเตอรอลและ/หรือไขมันอิ่มตัวสูง นอกจากนี้ ในแต่ละวันควรรับประทานอาหารที่มีกากใยอาหาร (dietary fiber) ให้มากพอ เพื่อเพิ่มกากอาหารในลำไส้ ช่วยลดอาการท้องผูก ใยอาหารสามารถลดหรือชะลอการดูดซึมไขมันและน้ำตาลจากทางเดินอาหาร อาหารที่มีกากใยอาหารมาก ได้แก่ ผักต่างๆ ธัญพืชที่ขัดสีน้อยหรือขัดสีไม่หมด ถั่วบางชนิด เช่น ถั่วแดง ถั่วเหลือง และผลไม้ เช่น ฝรั่ง แอปเปิล ควรหลีกเลี่ยง หรือจำกัดการรับประทานขนมหวาน และอาหารที่ปรุงโดยทอดด้วยน้ำมัน


๒. การมีกิจกรรมทางกายหรือการออกกำลังกาย (physical activity or exercise)

การออกกำลังกายไม่ว่าในรูปแบบใด หรือกิจกรรมออกแรงในการทำงาน หรือทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การเดิน การขึ้นลงบันได การเช็ดขัดถู การขุดดินทำสวน ที่ทำอย่างต่อเนื่องและใช้เวลานานพอ เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยควบคุมหรือลดน้ำหนัก เพราะทำให้ร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้ามเนื้อมัดต่างๆ ใช้พลังงานเพิ่มขึ้น และยังทำให้น้ำหนักตัวที่ลดลงแล้วไม่กลับเพิ่มขึ้นอีก การออกกำลังกายหรือการมีกิจกรรมออกแรงที่มากเพียงพอทำให้ภาวะดื้ออินซูลินลดลง ระดับน้ำตาลจะดีขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีด้วย 

การเดินที่ต่อเนื่องและใช้เวลานานพอช่วยป้องกันและรักษาโรคเบาหวานได้

กิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายที่เหมาะสมคือ กิจกรรมที่ออกแรงปานกลาง เช่น การเดินอย่างต่อเนื่องครั้งละ ๓๐ - ๔๕ นาที สัปดาห์ละ ๓ - ๕ ครั้ง หรืออย่างน้อย ๑๕๐ นาทีต่อสัปดาห์ หากสามารถเพิ่มเป็น ๖๐ - ๗๕ นาทีทุกวัน จะทำให้น้ำหนักตัวลดลงและอยู่คงที่ได้ ถ้าเป็นกิจกรรมออกแรงหนัก เช่น วิ่งเหยาะๆ วันละ ๓๐ นาที จะได้ประโยชน์เช่นเดียวกัน แต่หากไม่สามารถทำกิจกรรมที่ต่อเนื่อง และนานจนครบตามระยะเวลาที่กำหนด อาจทำสะสมครั้งละ ๑๐ นาที จนได้วันละอย่างน้อย ๓๐ นาที แต่ประโยชน์ในการเพิ่มสมรรถภาพของกล้ามเนื้อ และการหมุนเวียนโลหิตจะไม่ดีเท่ากับการทำต่อเนื่องครั้งเดียว

ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดต้องตรวจร่างกายก่อนเริ่มออกกำลังกาย การออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกาย ควรเริ่มโดยเดินเพียงช่วงสั้นๆ ก่อน ประมาณ ๕ - ๑๐ นาที แล้วค่อยเพิ่มเวลาและความเร็วขึ้นช้าๆ ทุก ๑ - ๒ สัปดาห์ จนสามารถทำได้เต็มที่ ก่อนออกกำลังกายควรอบอุ่นร่างกาย (warm up) เพื่อยืดเส้นเอ็น และเตรียมกล้ามเนื้อให้พร้อม สำหรับการออกกำลังกาย และหลังการออกกำลังกายควรผ่อนคลาย (cool down) เพื่อปรับสภาพก่อนหยุดออกกำลังกาย

การรับประทานอาหารและการออกกำลังกายของผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน มีหลักปฏิบัติและวิธีการเช่นเดียวกับการป้องกันการเกิดโรค แต่ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานและมีภาวะหรือโรคอื่นร่วมด้วยจะมีข้อจำกัดบางอย่างเพิ่มเติม เช่น ผู้ที่มีโรคไตเรื้อรังร่วมด้วย ต้องลดเกลือและปริมาณเนื้อสัตว์ลง อาจต้องงดผลไม้หากพบว่ามีเกลือโพแทสเซียมสูงในเลือด หรือผู้ที่มีโรคหัวใจขาดเลือดร่วมด้วย ต้องลดเกลือและจำกัดปริมาณไขมัน รวมทั้งเนื้อสัตว์ที่รับประทานให้เข้มงวดยิ่งขึ้น

๓. ยารักษาโรคเบาหวาน

วิธีการควบคุมรักษาโรคเบาหวานนอกจากการรับประทานอาหารอย่างถูกต้องเหมาะสม และออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดังที่กล่าวมาแล้ว จำเป็นต้องพบแพทย์เป็นระยะๆ ตามนัด และตรวจสุขภาพตามกำหนด เพื่อค้นหาหรือติดตามโรคแทรกซ้อน ที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งรับประทานยาหรือฉีดยาตามที่แพทย์แนะนำเป็นประจำ

ยารักษาโรคเบาหวานมีหลายชนิด ทั้งยารับประทาน และยาฉีด แพทย์จะพิจารณาเลือกใช้ยาให้เหมาะสมตามลักษณะอาการ ของผู้เป็นโรคเบาหวานแต่ละราย ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ ๑ จำเป็นต้องรักษาด้วยยาฉีดอินซูลินตั้งแต่แรกเริ่ม และรักษาตลอดไป ส่วนผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ ๒ จำนวนหนึ่งสามารถควบคุมเบาหวานได้โดยการรับประทานอาหารอย่างถูกต้องเหมาะสม และการออกกำลังกายเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องใช้ยา แต่หากไม่สามารถควบคุมเบาหวานได้ต้องรับประทานยาร่วมด้วย ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ ๒ ส่วนหนึ่งที่เป็นมานานอาจมีปัญหาดื้อยา และในบางภาวะ เช่น ขณะตั้งครรภ์ เมื่อเข้ารับการผ่าตัด มีโรคไต โรคตับ ร่วมด้วย จำเป็นต้องรักษาด้วยยาฉีดอินซูลิน พบว่า ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจำนวนไม่น้อย จำเป็นต้องรักษาด้วยยารับประทานร่วมกับยาฉีดอินซูลิน เพื่อให้การควบคุมเบาหวานได้ผลตามเป้าหมาย

ยารักษาโรคเบาหวานมีหลายชนิด ทั้งยารับประทาน และยาฉีด แพทย์จะพิจารณาเลือกใช้ยาให้เหมาะสมตามลักษณะอาการ ของผู้เป็นโรคเบาหวานแต่ละราย ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ ๑ จำเป็นต้องรักษาด้วยยาฉีดอินซูลินตั้งแต่แรกเริ่ม และรักษาตลอดไป ส่วนผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ ๒ จำนวนหนึ่งสามารถควบคุมเบาหวานได้โดยการรับประทานอาหารอย่างถูกต้องเหมาะสม และการออกกำลังกายเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องใช้ยา แต่หากไม่สามารถควบคุมเบาหวานได้ต้องรับประทานยาร่วมด้วย ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ ๒ ส่วนหนึ่งที่เป็นมานานอาจมีปัญหาดื้อยา และในบางภาวะ เช่น ขณะตั้งครรภ์ เมื่อเข้ารับการผ่าตัด มีโรคไต โรคตับ ร่วมด้วย จำเป็นต้องรักษาด้วยยาฉีดอินซูลิน พบว่า ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจำนวนไม่น้อย จำเป็นต้องรักษาด้วยยารับประทานร่วมกับยาฉีดอินซูลิน เพื่อให้การควบคุมเบาหวานได้ผลตามเป้าหมาย
ผู้ป่วยโรคเบาหวานจำเป็นต้องเรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ รวมทั้งรู้วิธีการควบคุมและรักษาเป็นอย่างดี เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญ ในการที่จะนำไปสู่การปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ด้วยความเต็มใจ ปฏิบัติได้อย่างสม่ำเสมอ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เรียนรู้โรคเบาหวาน เพื่อการดูแลตนเอง ให้ถือเสมือนว่าโรคเบาหวานเป็นสัตว์เลี้ยงที่มาอาศัยอยู่ด้วย ต้องดูแลให้ดีและเอาใจใส่ จนอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหา ไม่บั่นทอนสุขภาพกายและสุขภาพจิต อย่าปล่อยปละละเลยจนเกิดโรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน ทำให้เสียสุขภาพ เสียเงิน เสียเวลาที่ใช้ในการรักษาพยาบาลมากขึ้น ในที่สุดโรคเบาหวานจะครอบคลุมจิตใจ ทำให้หดหู่ เศร้าหมอง และมีคุณภาพชีวิตแย่ลง

จุดประสงค์ของการรักษาโรคเบาหวานคือให้ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานปราศจากอาการต่างๆ  จากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินปกติ การรักษาต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและความผิดปกติอื่นๆ ให้ใกล้เคียงภาวะปกติที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ เพื่อให้ปลอดจากภาวะหรือโรคแทรกซ้อนจากเบาหวาน และเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ในเด็กต้องมีการเจริญเติบโตเป็นไปอย่างสมวัย ในหญิงมีครรภ์ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อทารกในครรภ์และมารดาด้วย

ปัจจุบันการรักษาโรคเบาหวานมิได้จำกัดเฉพาะการควบคุมระดับน้ำตาล ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหารให้เป็นปกติ หรือใกล้เคียงปกติเท่านั้น แต่การรักษาต้องมีการควบคุมภาวะหรือโรคอื่นๆ ที่พบร่วมกับโรคเบาหวานด้วย ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ระดับไขมันผิดปกติในเลือด ซึ่งโรคเบาหวานและปัจจัยเหล่านี้ รวมทั้งการสูบบุหรี่ เป็นตัวส่งเสริมให้เกิดโรคแทรกซ้อนทางหลอดเลือดในผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน