วันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2557

วัณโรค (Tuberculosis)

วัณโรค (Tuberculosis)


วัณโรคเป็นโรคติดเชื้อที่มีความสำคัญมากที่สุดโรคหนึ่งในปัจจุบัน จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกเมื่อปี ค.ศ.1997 คาดว่าผู้ที่ติดเชื้อวัณโรคมีอยู่มากกว่า 2,000 ล้านคนทั่วโลก และพบว่ามีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นประมาณ 12 ล้านคนในแต่ละปี ซึ่งถ้านับรวมผู้ป่วยวัณโรคทั้งหมดในช่วงเวลาหนึ่งๆ อาจมีจำนวนมากถึง 16 ล้านคน นอกจากนี้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยวัณโรคประมาณปีละ 2-3 ล้านคน จะเห็นได้ว่าวัณโรคจึงเป็นสาเหตุการตายจากโรคติดเชื้อที่สำคัญที่สุดโรคหนึ่ง

     วัณโรคในประเทศไทยถือว่าค่อนข้างวิกฤติ โดยคาดการณ์ว่าขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรคราว 80,000-100,000 คน และมีแนวโน้มสูงขึ้นในผู้ติดเชื้อเอดส์ ประเทศไทยมีผู้ได้รับเชื้อวัณโรคแล้วประมาณ 25 ล้านคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 10 สามารถแพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่นได้ ในการลดผู้ป่วยวัณโรคไม่ให้กลับมาเป็นปัญหาสาธารณสุขที่วิกฤติของประเทศ จำเป็นต้องมุ่งเน้นรักษาผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยวัณโรคจำนวน 72,000 คนให้หายขาด ปัจจัยที่ทำให้เกิดวัณโรคคือความยากจนและการติดเชื้อเอดส์ ที่สำคัญปัญหาการรักษาวัณโรคคือเชื้อดื้อยาซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่ผู้ป่วยไม่รักษาอย่างต่อเนื่องทำให้ป่วยซ้ำ โดยกลุ่มนี้มีอัตราสูงถึงร้อยละ 20

     ปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยโรคเอดส์เป็นวัณโรคแทรกซ้อนกันมาก และทำให้วัณโรคปอดที่เคยลดลง มีการแพร่กระจายมากขึ้น ที่สำคัญเมื่อเข้ารับการรักษาควรต้องรับการรักษาให้จบขั้นตอนตามที่แพทย์กำหนดโดยเคร่งครัด มิฉะนั้นจะทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาเพิ่มมากขึ้น ทำให้เป็นปัญหาลำบากในการรักษาต่อไป

     สาเหตุวัณโรค

     วัณโรคเกิดจากเชื้อวัณโรค ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีชื่อว่า ไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) บางครั้งเรียกว่า เชื้อเอเอฟบี (AFB/Acid Fast Bacilli) เชื้อวัณโรคติดต่อจากคนไปคนผ่านทางละอองเสมหะที่เกิดจากการไอ จาม หรือ การใช้เสียง เชื้อวัณโรคที่ตกลงสู่พื้นหรือติดอยู่กับผิวสัมผัสของวัตถุอื่นๆ จะถูกทำลายไปโดยง่ายโดยแสงสว่างและอากาศที่ถ่ายเทสะดวก วัณโรคแพร่ได้ด้วยการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น อยู่อาศัยร่วมบ้านเดียวกัน การที่ผู้ป่วยภูมิต้านทานร่างกายอ่อนแอ เช่น เบาหวาน ติดเชื้อเอชไอวี หรือได้รับยากดภูมิต้านทาน เช่น ยารักษาโรคมะเร็ง หรือยาลูกกลอนที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ จะทำให้มีโอกาสเป็นวัณโรคได้ง่าย

     อาการวัณโรค

     อาการนำของวัณโรคปอดที่สำคัญคืออาการไอติดต่อกันเกิน 3 สัปดาห์ ในบางรายอาจมีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร หรือ ไอมีเลือดออก ร่วมด้วยได้ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยวัณโรคในระยะแรกๆ มักจะไม่ปรากฏอาการให้เห็นชัดเจน

     อาการแทรกซ้อนที่สำคัญคือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ, ฝีในปอด, ภาวะมีน้ำในช่องหุ้มปอด, วัณโรคต่อมน้ำเหลือง พบบ่อยที่ข้างคอ อาจโตเป็นก้อนร่วมกับไข้เรื้อรัง หรือโตต่อกันเป็นสายเรียกว่า ฝีประคำร้อย, ไอออกเป็นเลือดถึงช็อก ที่พบได้น้อยลงไป ได้แก่ วัณโรคกระดูก มักพบที่กระดูกสันหลัง มีอาการปวดหลังเรื้อรัง หลังคดโก่ง และกดเจ็บ, วัณโรคลำไส้ มีอาการไข้ ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเดินเรื้อรัง ซูบผอม ถ้าลุกลามไปที่เยื่อบุช่องท้องที่ทำให้ท้องมานได้, วัณโรคไต, วัณโรคกล่องเสียง เสียงแหบ เป็นต้น

    การวินิจฉัยวัณโรค

     จากประวัติอาการเจ็บป่วย การตรวจร่างกายอย่างละเอียด ร่วมกับการตรวจพบเชื้อวัณโรคในเสมหะ หรือสารคัดหลั่งต่างๆ ในร่างกาย การตรวจทางรังสีโดยการถ่ายภาพเอ็กซเรย์ช่วยในการวินิจฉัยเป็นอย่างมาก

    การรักษาวัณโรค

     โดยการให้ยารักษาวัณโรคอย่างน้อย 2 ชนิดขึ้นไป โดยมีไอเอ็นเอช เป็นยาหลัก 1 ชนิด แล้วให้ยาอื่นร่วมด้วยอีก 1-3 ชนิด การใช้ยาเพียงชนิดเดียวมักจะรักษาไม่ได้ผล ยาที่ใช้รักษาวัณโรคจึงมีสูตรให้เลือกอยู่หลายแบบ

     ผู้ที่เป็นวัณโรคในระยะที่เริ่มการรักษา โดยเฉพาะ 2 สัปดาห์แรก จึงควรหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดผู้อื่นโดยเฉพาะเด็กและคนชรา และควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในที่สาธารณะที่ผู้คนแออัด เช่น โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยยานพาหนะร่วมกับผู้อื่นเป็นเวลานานโดยเฉพาะถ้าเกิน 8 ชั่วโมงขึ้นไป แต่ไม่จำเป็นต้องแยกข้าวของเครื่องใช้ในกิจวัตรประจำตัวจากคนอื่น หลังจากทำการรักษาจนอาการไอหายไปแล้ว ยิ่งถ้าแพทย์ตรวจเสมหะซ้ำแล้วว่าไม่พบเชื้อวัณโรค ก็จะปลอดภัยเพียงพอที่จะมีกิจกรรมทางหน้าที่การงานและทางสังคมได้ตามปกติ

    สาเหตุของการรักษาวัณโรคไม่ได้ผล

     สาเหตุที่สำคัญได้แก่การที่ผู้ป่วยได้รับยาไม่ถูกต้อง ผู้ป่วยรับยาไม่สม่ำเสมอไม่ครบตามตามกำหนดเวลาอันสมควร บางคนอาจมีการแพ้ยาเกิดขึ้น นอกจากนี้อาจเกิดจากมีโรคอื่นร่วมอยู่ด้วยและไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เช่นเบาหวาน พิษสุราเรื้อรัง สำหรับการรักษาผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษามาก่อน ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษามาเต็มที่เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน และการประเมินผลแสดงการรักษาไม่ได้ผล ควรเปลี่ยนใช้ยาขนานใหม่ที่ผู้ป่วยไม่เคยได้รับมาก่อนอย่างน้อย 2 หรือ 3 ขนาน โดยอาศัยผลการทดสอบการต้านยาของเชื้อวัณโรค หรือการเปลี่ยนแปลงทางคลินิกผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษาจนครบกระบวนการแล้วโรคสงบไประยะหนึ่งแล้วกำเริบขึ้นใหม่

     การรักษาควรพิจารณาถึงสถานที่นั้นสามารถทดสอบความไวต่อยาของเชื้อวัณโรคได้หรือไม่ ถ้าสามารถทำการทดสอบได้อาจให้ยาเก่าที่ผู้ป่วยเคยได้รับมาก่อนและรอผลทดสอบการต้านยาของเชื้อวัณโรค ถ้าไม่สามารถทำการทดสอบได้ควรใช้ยาใหม่ที่ผู้ป่วยไม่เคยได้รับมาก่อน 2-3 ขนาน อย่างไรก็ตามการรักษาผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษามาก่อนมีความยุ่งยากและปัญหามาก เนื่องจากต้องใช้ยาที่มีประสิทธิภาพต่ำและผลแทรกซ้อนสูง

     การป้องกันวัณโรค

      สำหรับการป้องกันและดูแลจากผู้ป่วยที่อยู่ร่วมชายคาเดียวกันนั้นต้องอยู่ในที่โล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่คลุกคลี สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคที่อยู่ในระยะแพร่เชื้อ ฉีดวัคซีนบีซีจีตั้งแต่แรกคลอด ไม่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น เช่น ไม่ไอ จาม รดผู้อื่น ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัว ได้แก่ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ร่วมกับผู้อื่น ไม่บ้วนเสมหะลงพื้นในที่แสงแดดส่องไม่ถึง ถ้ามีอาการน่าสงสัย หรือผิดปกติ หรือสัมผัสใกล้ชิด ควรปรึกษาแพทย์ทันที

อ้างอิง http://www.4life-network.com

โรคทางพันธุกรรม

โรคทางพันธุกรรม



        โรคทางพันธุกรรม หรือ โรคติดต่อทางพันธุกรรม เป็น โรคที่เกิดขึ้นโดยมีสาเหตุมาจากการถ่ายทอดพันธุกรรมของฝั่งพ่อและแม่ หากหน่วยพันธุกรรมของพ่อและแม่มีความผิดปกติแฝงอยู่ โดยความผิดปกติเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากการผ่าเหล่าของหน่วยพันธุกรรมบรรพบุรุษ ทำให้หน่วยพันธุกรรมเปลี่ยนไปจากเดิมได้ 

          ทั้งนี้ โรคทางพันธุกรรม นี้ เป็นโรคติดตัวไปตลอดชีวิต ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดย โรคทางพันธุกรรม เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม 2 ประการ คือ ความผิดปกติของออโตโซม (โครโมโซมร่างกาย) และความผิดปกติของโครโมโซมเพศ

โรคที่เกิดจากความผิดปกติบนออโตโซม (Autosome)

          โรคที่เกิดจากความผิดปกติบนออโตโซม คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมในร่างกาย ที่มี 22 คู่ หรือ 44 แท่ง สามารถเกิดได้กับทุกเพศ และมีโอกาสเกิดได้เท่า ๆ กัน โรคที่เกิดจากความผิดปกติบนออโตโซม แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ความผิดปกติที่จำนวนออโตโซม และความผิดที่รูปร่างโครโมโซม ประกอบด้วย

1.ความผิดปกติของจำนวนออโตโซม

          เป็นความผิดปกติที่จำนวนออโทโซมในบางคู่ที่เกินมา 1 โครโมโซม จึงทำให้โครโมโซมในเซลล์ร่างกายทั้งหมดเป็น 47 โครโมโซม เช่น ออโทโซม 45 แท่ง 1 โครโมโซมเพศ 2 แท่ง ได้แก่

กลุ่มอาการดาวน์ หรือ ดาวน์ซินโดรม ( Down's syndrome) 

          เป็น โรคทางพันธุกรรม ที่เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจาก โครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมา 1 แท่ง คือ มี 3 แท่ง จากปกติที่มี 2 แท่ง ซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า TRISOMY 21 นอกจากนั้นอาจมีสาเหตุมาจากการย้ายที่ของโครโมโซม เช่น โครโมโซมคู่ที่ 14 มายึดติดกับโครโมโซมคู่ที่ 21 เป็นต้น และยังมีสาเหตุมาจาก มีโครโมโซมทั้ง 46 และ 47 แท่ง ในคน ๆ เดียว เรียกว่า MOSAIC ซึ่งพบได้น้อยมาก

          ลักษณะของเด็กดาวน์ซินโดรม จะมีศีรษะค่อนข้างเล็ก แบน และตาเฉียงขึ้น ดั้งจมูกแบน ปากเล็ก ลิ้นมักยื่นออกมา ตัวเตี้ย มือสั้น อาจเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หรือโรคลำไส้อุดตันตั้งแต่แรกเกิด มีภาวะต่อมไทรอยด์บกพร่อง และเป็นปัญญาอ่อน พบบ่อยในแม่ที่ตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก

 กลุ่มอาการเอ็ดเวิร์ดซินโดรม ( Edward's syndrome)

          เกิดจากโครโมโซมคู่ที่ 18 เกินมา 1 โครโมโซม ทำให้เป็นปัญญาอ่อน ปากแหว่ง เพดานโหว่ คางเว้า นิ้วมือบิดงอ และกำแน่นเข้าหากัน ปอดและระบบย่อยอาหารผิดปกติ หัวใจพิการแต่กำเนิด ทารกมักเป็นเพศหญิง และมักเสียชีวิตตั้งแต่ก่อนอายุ 1 ขวบ

 กลุ่มอาการพาทัวซินโดม ( Patau syndrome)

          อาการนี้เกิดจากโครโมโซมคู่ที่ 13 เกินมา 1 โครโมโซม ทำให้เด็กมีอาการปัญญาอ่อน อวัยวะภายในพิการ และมักเสียชีวิตตั้งแต่แรกเกิด หรือหากมีชีวิตรอดก็จะมีอายุสั้นมาก

 2. ความผิดปกติของรูปร่างออโตโซม 

          เป็นความผิดปกติที่ออโทโซมบางโครโมโซมขาดหายไปบางส่วน แต่มีจำนวนโครโมโซม 46 แท่ง เท่ากับคนปกติ ประกอบด้วย

 กลุ่มอาการคริดูชาต์ หรือ แคทครายซินโดรม (cri-du-chat or cat cry syndrome) 

          เกิดจากโครโมโซมคู่ที่ 5 ขาดหายไปบางส่วน ทำให้ผู้ป่วยมีศีรษะเล็กกว่าปกติ เกิดภาวะปัญญาอ่อน หน้ากลม ใบหูต่ำ ตาห่าง หางตาชี้ นิ้วมือสั้น เจริญเติบโตได้ช้า เวลาร้องจะมีเสียงเหมือนแมว จึงเป็นที่มาของชื่อโรคนี้ว่า แคทครายซินโดรม (cat cry syndrome)

 กลุ่มอาการเพรเดอร์-วิลลี (Prader-Willi syndrome)

          เป็น โรคทางพันธุกรรม ที่เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 15 ทำให้ผู้ป่วยมีรูปร่างอ้วนมาก มือเท้าเล็ก กินจุ มีความบกพร่องทางสติปัญญา มีพฤติกรรมแปลก ๆ เช่น พูดช้า รวมทั้งเป็นออทิสติกด้วย

โครโมโซม

 โรคที่เกิดจากความผิดปกติที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมในโครโมโซมเพศ ( Sex chromosome)

          โครโมโซมเพศ ประกอบด้วย โครโมโซม 1 คู่ หรือ 2 แท่ง ในผู้หญิง เป็นแบบ XX ส่วนในผู้ชายเป็นแบบ XY โรคที่เกิดความผิดปกติในโครโมโซม สามารถเกิดได้ในทั้งหญิงและชาย แต่จะมีโอกาสเกิดขึ้นมากในเพศใดเพศหนึ่ง โดยลักษณะที่ควบคุมโดยยีนด้อยบนโครโมโซม X ได้แก่ หัวล้าน ตาบอดสี โรคฮีโมฟีเลีย โรคภาวะพร่องเอนไซม์ จี- 6- พีดี ( G-6-PD) โรคกล้ามเนื้อแขนขาลีบ การเป็นเกย์ และอาการต่าง ๆ นี้ มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เนื่องจากผู้ชายมีโครโมโซม x เพียงตัวเดียว โรคที่เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมเพศ ได้แก่

 ตาบอดสี (Color blindness)

          เป็นภาวะการมองเห็นผิดปกติ โดยมากเป็นการตาบอดสีตั้งแต่กำเนิด และมักพบในเพศชายมากกว่า เพราะเป็นการถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบลักษณะด้อยบนโครโมโซม ผู้ที่เป็นตาบอดสีส่วนใหญ่จะไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างสีเขียวและสีแดงได้ จึงมีปัญหาในการดูสัญญาณไฟจราจร รองลงมาคือ สีน้ำเงินกับสีเหลือง หรืออาจเห็นแต่ภาพขาวดำ และความผิดปกตินี้จะเกิดขึ้นกับตาทั้งสองข้าง ไม่สามารถรักษาได้

 ฮีโมฟีเลีย (Hemophilia)

          โรคฮีโมฟีเลีย คือ โรคเลือดออกไหลไม่หยุด หรือเลือดออกง่ายหยุดยาก เป็น โรคทางพันธุกรรม ที่พบมากในเพศชาย เพราะยีนที่กำหนดอาการโรคฮีโมฟีเลียจะอยู่ใน โครโมโซม X และถ่ายทอดยีนความผิดปกตินี้ให้ลูก ส่วนผู้หญิงหากได้รับโครโมโซม X ที่ผิดปกติ ก็จะไม่แสดงอาการ เนื่องจากมี โครโมโซม X อีกตัวข่มอยู่ แต่จะแฝงพาหะแทน

          ลักษณะอาการ คือ เลือดของผู้ป่วยฮีโมฟีเลียจะไม่สามารถแข็งตัวได้ เนื่องจากขาดสารที่ทำให้เลือดแข็งตัว อาการที่สังเกตได้ เช่น เลือดออกมากผิดปกติ เลือดกำเดาไหลบ่อย ข้อบวม เกิดแผลฟกช้ำขึ้นเอง แต่โรคฮีโมฟีเลียนี้ สามารถรักษาได้ โดยการใช้สารช่วยให้เลือดแข็งตัวทดแทน

 ภาวะพร่องเอนไซม์ จี- 6- พีดี (G-6-PD : Glucose-6-phosphate dehydrogenase)

          โรคพร่องเอนไซม์ G6PD หรือ Glucose-6-phosphate dehydrogenase เป็น โรคทางพันธุกรรม ที่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกได้ง่าย เมื่อได้รับสิ่งกระตุ้น ซึ่งสาเหตุของ ภาวะพร่องเอนไซม์ จี- 6- พีดี นั้นเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมแบบ X  ทำให้เอนไซม์ G6PD ที่คอยปกป้องเม็ดเลือดแดงจากการทำลายของสารอนุมูลอิสระบกพร่อง จนไม่สามารถป้องกันการทำลายสารอนุมูลอิสระที่เป็นพิษต่อเซลล์เม็ดเลือดแดงได้ ผู้ป่วยจึงมีอาการซีดเป็นครั้งคราว เนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตกอย่างฉับพลัน ในเด็กจะมีอาการดีซ่าน ส่วนผู้ใหญ่จะปัสสาวะเป็นสีดำ ถ่ายปัสสาวะน้อยจนเกิดอาการไตวายได้ โดยสิ่งที่สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการได้ เช่น อาหารอย่างถั่วปากอ้า ที่มีสารอนุมูลอิสระมาก รวมทั้งการติดเชื้อโรคต่าง ๆ ทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวหลั่งสารอนุมูลอิสระมากขึ้น

          ทั้งนี้ โรคนี้ไม่สามารถรักษาได้ ถ้ารู้จักการระวังตัว เช่น หลีกเลี่ยงยา หรืออาหารที่แสลง ก็จะไม่เกิดอันตราย ที่สำคัญคือ ผู้ป่วยต้องดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ไตวาย

 กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ ( Turner's syndrome)

          เกิดในเฉพาะเพศหญิง สาเหตุจากโครโมโซม X หายไป 1 แท่ง ทำให้เหลือโครโมโซมในเซลล์ร่างกาย  45 แท่ง ผู้ป่วยจะมีอาการปัญญาอ่อน และตัวเตี้ย ที่บริเวณคอมีพังผืดกางเป็นปีก มักเป็นหมันและไม่มีประจำเดือน มีอายุเท่ากับคนปกติทั่ว ๆ ไป

 กลุ่มอาการไคลน์เฟลเตอร์ (Klinefelter's syndrome)

          พบในเพศชาย เกิดจากโครโมโซม X เกินมา 1 หรือ 2 โครโมโซม ทำให้คารีโอไทป์เป็น 47,XXY หรือ 48,XXXY ผู้ป่วยจะมีอาการปัญญาอ่อน รูปร่างอ้อนแอ้น สูงชะลูด หน้าอกโต มีเต้านมเหมือนผู้หญิง และเป็นหมัน เพราะไม่มีอสุจิ และมีอัณฑะเล็ก ยิ่งถ้ามีจำนวนโครโมโซม X มาก อาการปัญญาอ่อนก็จะรุนแรงมากขึ้น

 กลุ่มอาการทริปเปิ้ลเอ็กซ์ (Triple x syndrome)

          เกิดในผู้หญิง โดยจะมีโครโมโซม x เกินมา 1 แท่ง ทำให้เป็น XXX  รวมมีโครโมโซม 47 แท่ง ทำให้ผู้หญิงคนนั้นเป็นหมัน เจริญเติบโตไม่เต็มที่ และไม่มีประจำเดือน

 กลุ่มอาการดับเบิลวาย (Double y syndrome)

          เกิดในผู้ชาย ที่มีโครโมโซม y เกินมา 1 แท่ง มีจีโนไทป์เป็น xyy เรียกว่า Super Male ลักษณะจะเป็นผู้ชายที่มีร่างกายปกติ แต่เป็นหมัน มีอารมณ์ฉุนเฉียว สูงมากกว่า 6 ฟุต มีระดับฮอร์โมนเพศชายในเลือดสูงกว่าปกติ ส่วนใหญ่เป็นหมัน ไม่สามารถมีบุตรได้

 โรคที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมอื่น ๆ ได้แก่

 ฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria) หรือ (Phenylpyruvic oligophrenia)

          เป็น โรคทางพันธุกรรม ที่เกิดจากการถ่ายทอดทางโครโมโซม โดยโครโมโซมนั้นมีความบกพร่องของยีนที่สร้าง Phenylalanine hydroxylase ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถสร้างเอนไซม์นี้ได้ จึงไม่สามารถย่อยสลายกรดอะมิโน phenylalanine ไปเป็น tyrosine เหมือนคนปกติ จึงเกิดภาวะ phenylalaine สะสมในเลือดมากผิดปกติ และมี phenylpyruvic acid และกรดอินทรีย์อื่นปนในปัสสาวะ รวมทั้งอาการโลหิตเป็นพิษด้วย โดยผู้ป่วยฟีนิลคีโตนูเรียนี้ มักจะมีอาการปัญญาอ่อน และไม่สามารถรับประทานอาหารได้เหมือนคนทั่วไป โดยอาการฟีนิลคีโตนูเรียนี้ จะพบในคนผิวขาวมากกว่า และในประเทศไทยพบไม่มาก

 สไปโนซีรีเบลลาร์อะแท็กเซีย (spinocerebellar ataxia)

          เป็น โรคทางพันธุกรรม ที่ยังไม่มีทางรักษา โดยเกิดจากโพลีกลูตาไมน์ ไตรนิวคลีโอไทด์ ผลิตซ้ำมากเกินปกติ ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหวทางกายภาพ ทั้งท่าเดิน การพูด ตากระตุก และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย แต่ระบบจิตใจและความรู้สึกนึกคิดยังปกติ
ทั้งนี้ สไปโนซีรีเบลลาร์อะแท็กเซีย มีหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดจะแสดงอาการต่าง ๆ กันไป รวมทั้งอายุของผู้ป่วยที่เริ่มเป็นโรค และลักษณะการถ่ายทอดทางพันธุกรรมก็แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของยีนบนโครโมโซมของผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบ

 โรคทาลัสซีเมีย ( Thalassemia )

          โรคทาลัสซีเมีย เป็นลักษณะที่ถูกควบคุมด้วยยีนด้อยบนโครโมโซม ซึ่งเมื่อผิดปกติจะทำให้การสร้างฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเม็ดเลือดผิดปกติ เม็ดเลือดแดงจึงมีรูปร่างผิดปกติ นำออกซิเจนไม่ดี ถูกทำลายได้ง่าย ทำให้ผู้ป่วย โรคทาลัสซีเมีย เป็นคนเลือดจาง และเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา

          ในประเทศไทยพบผู้ป่วย โรคทาลัสซีเมียร้อยละ 1 คือประมาณ 6 แสนคน แต่พบผู้เป็นพาหะถึงร้อยละ 30-40 คือประมาณ 20-25 ล้านคน ดังนั้นถ้าหากผู้เป็นพาหะมาแต่งงานกัน และพบยีนผิดปกติร่วมกัน ลูกก็อาจเป็น โรคทาลัสซีเมียได้ ทั้งนี้ โรคทาลัสซีเมีย แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ แอลฟาธาลัสซีเมีย และ เบต้าธาลัสซีเมีย ซึ่งก็คือ ถ้ามีความผิดปกติของสายแอลฟา ก็เรียกแอลฟาธาลัสซีเมีย และถ้ามีความผิดปกติของสายเบต้าก็เรียกเบต้าธาลัสซีเมีย

          ผู้ป่วย โรคทาลัสซีเมีย จะมีอาการซีด ตาขาวสีเหลือง ตัวเหลือง ตับม้ามโตมาตั้งแต่เกิด ผิวหนังดำคล้ำ กระดูกใบหน้าจะเปลี่ยนรูป มีจมูกแบน กะโหลกศีรษะหนา โหนกแก้มนูนสูง กระดูกเปราะ หักง่าย เจริญเติบโตช้ากว่าคนปกติ ส่วนอาการนั้น อาจจะไม่รุนแรง หรืออาจรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตเลยก็ได้ คนที่มีอาการมากจะมีอาการเลือดจางมาก ต้องให้เลือดเป็นประจำ หรือมีภาวะติดเชื้อบ่อย ๆ ทำให้เป็นไข้หวัดได้บ่อย

          ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วย โรคทาลัสซีเมีย คือ ให้ทานอาหารที่มีกรดโฟลิกสูง เช่น ผักใบเขียว เนื้อสัตว์ ให้มาก ๆ เพื่อนำไปใช้สร้างเม็ดเลือดแดง

 โรคซีสติกไฟโบรซีส (Cystic fibrosis)

          เป็นความผิดปกติทางพันธุกรรม ที่ทำให้ร่างกายสร้างเยื่อเมือกหนามากผิดปกติในปอดและลำไส้ ทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบาก และเยื่อเมือกหนาเหล่านั้นอาจทำให้ปอดติดเชื้อ หากมีแบคทีเรียเติบโตอยู่ ส่วนเยื่อเมือกหนาในลำไส้ จะทำให้ย่อยอาหารได้ลำบาก ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคนี้ แต่สามารถบรรเทาได้โดยการใช้ยาสลายเยื่อเมือก
โรคซิกเกิลเซลล์ (Sickle-cell) 

          เป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เกิดขึ้นกับเลือด ทำให้ฮีโมโกลบินมีรูปร่างผิดปกติ เซลล์เม็ดเลือดแดงเป็นรูปเคียว จึงไม่สามารถลำเลียงออกซิเจนได้มากเท่ากับเซลล์เม็ดเลือดแดงที่มีรูปร่างปกติ ส่งผลให้เกิดอาการหลอดเลือดอุดตัน ผู้ป่วยจะอ่อนเพลียและไม่มีแรง

 โรคคนเผือก (Albinos)

          ผู้ที่เป็น โรคคนเผือก คือ คนที่ไม่มีเม็ดสีที่ผิวหนัง จะมีผิวหนัง ผม ขน และม่านตาสีซีด หรือีขาว เพราะขาดเม็ดสีเมลานิน หรือมีน้อยกว่าปกติ ทำให้ทนแสงแดดจ้าไม่ค่อยได้

 โรคดักแด้

          ผู้เป็น โรคดักแด้ จะมีผิวหนังแห้งแตก ตกสะเก็ด ซึ่งแต่ละคนจะมีความรุนแรงของโรคต่างกัน บางคนผิวแห้งไม่มาก บางคนผิวลอกทั้งตัว ขณะที่บางคนหากเป็นรุนแรงก็มักจะเสียชีวิตจากการติดเชื้อที่เข้าทางผิวหนัง

 โรคท้าวแสนปม (neurofibromatosis)
 
          เป็นโรคผิวหนังที่ถ่ายทอดโดยโครโมโซม ลักษณะที่พบคือ ร่างกายจะมีตุ่มเต็มไปทั่วร่างกาย ขนาดเล็กไปจนใหญ่ แบ่งเป็น 2 ชนิด คือชนิดที่พบบ่อย พบประมาณ 1 ใน 2,500 ถึง 3,500 คน โดยพบอาการอย่างน้อย 2 ใน 7 อาการต่อไปนี้คือ มีปานสีกาแฟใส่นมอย่างน้อย 6 ตำแหน่ง, พบก้อนเนื้องอกตามผิวหนัง 2 ตุ่มขึ้นไป, พบกระที่บริเวณรักแร้หรือขาหนีบ, พบเนื้องอกของเส้นประสาทตา, พบเนื้องอกของม่านตา 2 แห่งขึ้นไป, พบความผิดปกติของกระดูก และมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้    
          ส่วน โรคท้าวแสนปม ประเภทที่ 2 พบได้น้อยมาก ราว 1 ใน 50,000 ถึง 120,000 คน ผู้ป่วยจะไม่มีอาการทางผิวหนัง แต่จะพบเนื้องอกของหูชั้นใน และมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้

 โรคลูคีเมีย (Leukemia)

          โรคลูคีเมีย หรือ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของไขกระดูก ทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดขาวจำนวนมากในไขกระดูก จนเบียดบังการสร้างเม็ดเลือดแดง ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ส่วนเม็ดเลือดขาวที่สร้างนั้น ก็เป็นเม็ดเลือดขาวตัวอ่อน จึงไม่สามารถต้านทานเชื้อโรคได้ จึงเป็นไข้บ่อย ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคลูคีเมีย มีหลายปัจจัย ทั้งพันธุกรรม กัมมันตภาพรังสี การติดเชื้อ เป็นต้น

          อาการของผู้ป่วย ลูคีเมีย จะแสดงออกมาในหลายรูปแบบ เช่น มีไข้สูง เป็นหวัดเรื้อรัง หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ตัวซีด เซลล์ลูคีเมียจะไปสะสมตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง ทำให้เกิดอาการบวมโต บางคนเป็นรุนแรง ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้

          การรักษา โรคลูคีเมีย ทำได้โดยให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อลดจำนวนเม็ดเลือดขาว หรืออาจใช้เคมีบำบัด เพื่อให้ไขกระดูกกลับมาทำหน้าที่ตามปกติ

 โรคเบาหวาน

          โรคเบาหวาน คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากขาดฮอร์โมนอินซูลิน ทั้งนี้โรคเบาหวาน ถือเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง และเป็น โรคทางพันธุกรรม โดยหากพ่อแม่เป็นเบาหวาน ก็อาจถ่ายทอดไปถึงลูกหลานได้และนอกจากพันธุกรรมแล้ว สิ่งแวดล้อม วิธีการดำเนินชีวิต การรับประทานอาหาร ก็มีส่วนทำให้เกิดโรคเบาหวานได้เช่นกัน

          อาการทั่วไปของผู้ที่เป็น โรคเบาหวาน คือจะปัสสาวะบ่อย เนื่องจากน้ำตาลที่ออกมาทางไตจะดึงเอาน้ำจากเลือดออกมาด้วย จึงทำให้มีปัสสาวะมากกว่าปกติ เมื่อถ่ายปัสสาวะมาก ก็ทำให้รู้สึกกระหายน้ำ ต้องคอยดื่มน้ำบ่อย ๆ และด้วยความที่ผู้ป่วย โรคเบาหวาน ไม่สามารถนำน้ำตาลมาเผาผลาญเป็นพลังงาน จึงหันมาเผาผลาญกล้ามเนื้อและไขมันแทน ทำให้ร่างกายผ่ายผอม ไม่มีไขมัน กล้ามเนื้อฝ่อลีบ อ่อนเปลี้ย เพลียแรง นอกจากนี้ การมีน้ำตาลคั่งอยู่ในอวัยวะต่าง ๆ จึงทำให้อวัยวะต่าง ๆ เกิดความผิดปกติ และนำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนมากมาย โดยเฉพาะ โรคไตวายเรื้อรัง, หลอดเลือดตีบตีน, อัมพฤกษ์ อัมพาต, ต้อกระจก, เบาหวานขึ้นตา ฯลฯ 

 การป้องกันโรคทางพันธุกรรม
          โรคทางพันธุกรรม ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เนื่องจากกจะติดตัวไปตลอดชีวิต ทำได้แต่เพียงบรรเทาอาการไม่ให้เกิดขึ้นมากเท่านั้น ดังนั้นการป้องกัน โรคทางพันธุกรรม ที่ดีที่สุด คือ ก่อนแต่งงาน รวมทั้งก่อนมีบุตร คู่สมรสควรตรวจร่างกาย กรองสภาพทางพันธุกรรมเสียก่อน เพื่อทราบระดับเสี่ยง อีกทั้งโรคทางพันธุกรรม บางโรค สามารถตรวจพบได้ในช่วงก่อนตั้งครรภ์ จึงเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยให้ทารกที่จะเกิดมา มีความเสี่ยงในการเป็นโรคทางพันธุกรรมน้อยลง

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม โดย http://health.kapook.com/view5094.html

พารานอยด์ (paranoid)

Paranoid Schizophrenia



Paranoid Schizophrenia หมายถึง โรคจิตเภทแบบหวาดระแวง  ต้องมี Schizophrenia ต่อท้ายเสมอนะเพราะคำนี้แปลว่า "โรคจิตเภท"   ถ้า Paranoid เฉย ๆ หมายถึงอาการหวาดระแวง

พารานอยด์ (paranoid) หรือ หวาดระแวง หมายความถึง อาการทางจิตอย่างหนึ่ง ได้แก่ ความสงสัยคิดเกินเลยจนเป็นความระแวง มีตั้งแต่น้อยๆ นั่นคือคนอื่นอาจพูดคุยโน้มน้าวใจด้วยเหตุผลก็พอจะโยกคลอนได้ ไม่เชื่อแบบฝังแน่น

แต่หวาดระแวงมากๆ คือฝังแน่นอย่างสุดลิ่ม ไม่ว่าใครจะนำหลักฐานอะไรมาก็ไม่เชื่อ เชื่อตัวเองอย่างเดียว ประการหลังนี่เองที่เรียกว่าเป็นความผิดปกติหรือมีอาการทางจิต

คนหวาดระแวงที่อายุมาก หรือมีการศึกษา เวลาระแวงจะสังเกตได้ยาก เพราะเขาจะรู้ว่าควรระแวงแบบไหนทำให้ดูไม่ผิดปกตินัก

สำหรับรายที่ระแวงมาก ๆ หรืออายุน้อย เช่น วัยรุ่นกลุ่มโรคจิตเภท ค่อนข้างชัดเจน อาจมีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน ไม่ดูแลตัวเอง ไม่ไปเรียน ไม่ไปทำงาน แสดงว่าผิดปกติชัดเจน แต่ถ้าทำงานอะไรได้ตั้งหลายอย่าง ต้องดูอาการอื่น ๆ ถ้าไม่แน่ใจอาจปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะบางรายต้องใช้การทดสอบทางจิตวิทยา

รายที่มีอายุมาก สาเหตุไม่ชัดเจน ต้องตรวจร่างกายด้วย ผู้ป่วยบางรายมีอาการทางกาย เช่น ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เนื้องอกในสมอง โรคเอสแอลดีขึ้นสมอง ก็ทำให้เกิดความหวาดระแวงได้ จิตแพทย์ต้องสังเกตว่ามีอาการทางกายด้วยหรือไม่

หากพบคนเช่นนี้แก้สถานการณ์อย่างไร?

ต้องสังเกตให้ได้ก่อนว่าคนนี้น่าสงสัย คนที่หวาดระแวงคือคนที่อาจระแวดระวังผิดปกติ เช่น หลบมุม ถือวัตถุสิ่งของที่อาจเป็นอาวุธ อย่างนั้นต้องรีบออกห่าง ถ้าไม่ทันสังเกต หรือไม่ได้คาดการณ์มาก่อน ที่ควรทำคืออย่าไปโต้แย้ง เขาพูดอะไรมาก็ฟังเรื่อยๆ ก่อนพยายามปลีกตัว หรือแจ้งตำรวจตรวจสอบ

กรณีเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นต้องใช้วิชาป้องกันตัว หรือใช้คำพูดเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจเขา โดยธรรมชาติคนหวาดระแวงจะกังวลว่าตัวเองจะถูกทำร้าย เพราะฉะนั้นเขาต้องป้องกันตัวเอง ทำอะไรที่น่าสงสัยขึ้นมาไม่ดีเขาจะทำร้ายก่อน

การป้องกันไม่ให้มีอาการหวาดระแวง 

โดยทั่วไปร่างกายมีกลไกตามธรรมชาติอยู่แล้วในการป้องกัน คือเหตุผล เช่น สงสัยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็จะหาเหตุผลว่าใช่หรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็ล้มเลิกไป นอกจากนั้น สถานการณ์บางอย่าง เช่น อยู่ในสังคมที่หวาดระแวง หรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ถ้ามีความระแวงบ้างอาจมีประโยชน์ เพราะระมัดระวังตัวมากขึ้น แต่หวาดระแวงแบบนี้ไม่ใช่อาการ เป็นความระแวดระวัง  แต่มากเกินไปก็ไม่ไหวคนรอบข้างจะทนไม่ได้เอา


ต่อมามาดูอีกคำที่ (ไม่) น่าจะสับสนกัน

คำนั้นคือคำว่า "วิตกจริต"

วิตกจริต  ตรงกับภาษาอังกฤษว่า  be worried about  แปลว่า คิดหวาดระแวงไปในทางร้าย

มาดูจากพจนานุกรมกันบ้าง

ฉบับราชบัณฑิตยสถานระบุไว้ว่า    วิตกจริต  [วิตกกะจะหฺริด, วิตกจะหฺริด] ว. มีนิสัยคิดไปในทางร้ายทางเสีย. (ป.).

ฉบับอ.เปลื้อง ณ นคร  แปลไว้ว่า     วิตกจริต ว. มักประพฤติตรึกตรองเป็นนิสัย, มีนิสัยคิดเป็นห่วงในกิจการอยู่เสมอ.

ถ้าเราเอาคำนี้มาแยกจะพบว่า          วิตก หมายถึง ความตรึก, ตริ, การยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ หรือปักจิตลงสู่อารมณ์ การคิด, ความดำริ ; ไทยใช้ว่าเป็นห่วงกังวล  หรืออาจหมายถึงเป็นทุกข์   ร้อนใจ  เป็นกังวล

                                                        จริต [จะหฺริด] น. ความประพฤติ, กิริยาหรืออาการ

รวมกันจะได้ว่า  วิตกจริต หมายถึง พื้นนิสัยหนักในทางตรึก, มีวิตกเป็นปรกติ   มีความประพฤติหรือกิรินาอาการที่แสดงออกถึงความร้อนใจ เป็นทุกข์ เป็นกังวล

ซึ่งวิตกจริตอาจมีอาการหวาดระแวง แต่ไม่ใช่อาการของจิตเภท  ภาวะวิตกจริตสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนค่ะ แนวทางแก้ไขคือการกำหนดจิต ทำสมาธิ เจริญอานาปานสติกัมมัฏฐาน


แถมอีกคำแล้วกัน  "วิกลจริต"

วิกลจริต เอาสั้น ๆ ได้ใจความก็คือ คำนี้ตรงกับคำว่า บ้า ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานค่ะ

จะเห็นได้ว่า  วิตกจริตกับวิกลจริตนั้นไม่เหมือนกัน  วิตกจริตนั้นยังปกติอยู่ แต่วิกลจริตนี่บ้าค่ะ  ต้องได้รับการรักษา

ปล. หากจะนำข้อความในกระทู้นี้ไปอ้างอิง ขอให้ใส่เครดิทที่ลินลงด้านท้ายนี้ไว้ด้วย  ขอบคุณ

credit :
nachart@yahoo.com <<
NECTEC's Lexitron Dictionary
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พจนานุกรม ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร

credit:
รศ. นพ. รณชัย  คงสกนธ์ คณะแพทยศาสตร์ รพ. รามาธิบดี

พาราไทรอยด์

พาราไทรอยด์ โรคร้ายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง



      หากใครที่พอจะติดตามข่าวอาการป่วยด้วยโรคพาราไทรอยด์ของคุณสเตลล่า มาลูกี้ นางเอกภาพยนตร์เรื่องฟ้าทะลายโจรมาบ้าง อาจจะรู้สึกว่าทำไมโรคพาราไทรอยด์ถึงได้มีพิษสงร้ายกาจขนาดนี้ และอะไรเป็นสาเหตุให้เกิดโรค รวมถึงใครบ้างที่มีโอกาสเสี่ยง และเราจะเป็นหนึ่งในนั้นหรือไม่

โรคพาราไทรอยด์มีหลายประเภท ทั้งที่ทำงานมากและทำงานน้อยผิดปกติ แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะโรคพาราไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ ซึ่งเกิดได้จากทั้งเนื้องอกที่ต่อมพาราไทรอยด์ และกรณีที่ต่อมพาราไทรอยด์โตขึ้นเอง สำหรับในกลุ่มที่เป็นเนื้องอกมักไม่เป็นเนื้อร้าย มีเพียงน้อยกว่าร้อยละ 1 ที่เป็นมะเร็งต่อมพาราไทรอยด์ ซึ่งเนื้องอกเหล่านี้มักไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด พบเพียงกลุ่มน้อยที่มาจากกรรมพันธุ์ และในหลายกรณีจะมีโรคแปลกๆ ร่วมด้วย เช่น เนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง เนื้องอกที่ตับอ่อน หรือแม้แต่มะเร็งไทรอยด์ โดยในกลุ่มที่เป็นกรรมพันธุ์มักพบในกลุ่มที่มีอายุน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่มีสาเหตุ ซึ่งมักพบในผู้ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป

ส่วนต่อมพาราไทรอยด์โตนั้น บางครั้งไม่มีสาเหตุ แต่กลุ่มที่มีความเสี่ยงได้แก่ ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ไม่ได้รับการฟอกไตอย่างเพียงพอ ทำให้ร่างกายขาดวิตามินดี และมีสารฟอสฟอรัสคั่งมาก ต่อมพาราไทรอยด์จึงทำงานหนักและโตขึ้นในที่สุด


พาราไทรอยด์ผิดปกติส่งผลต่อร่างกายอย่างไร

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ต่อมพาราไทรอยด์นั้นแตกต่างจากต่อมไทรอยด์โดยสิ้นเชิง คำว่า 'พารา' ที่อยู่หน้าคำว่าไทรอยด์มีความหมายว่า ข้างเคียง ดั้งนั้นคำว่า 'พาราไทรอยด์' ก็คือ 'ต่อมเคียงไทรอยด์' ซึ่งเป็นการบอกแค่ว่า ต่อมนี้อยู่ด้านหลังไทรอยด์ มีจำนวน 4 ต่อม ขนาดเท่าเม็ดถั่วเขียว ถ้าจะเปรียบเทียบความแตกต่างของหน้าที่การทำงาน ก็คือ ต่อมไทรอยด์เป็นเหมือนน้ำมันเชื้อเพลิงช่วยในการเผาผลาญอาหาร ผลิตความร้อนให้ร่างกาย ช่วยให้หัวใจเต้นปกติ รวมทั้งทำให้ระบบประสาททำงานอัตโนมัติ กล่าวคือ สมองทำงานเป็นปกติ ส่วนต่อมพาราไทรอยด์เป็นเหมือนโครงสร้างรถ มีหน้าที่ปรับสมดุลแคลเซียมในร่างกายด้วยการดึงแคลเซียมจากกระดูกออกมายังกระแสเลือด ดูดกลับแคลเซียมที่ท่อไตมาสู่กระแสเลือด รวมทั้งช่วยให้การทำงานของวิตามินดีเป็นปกติ ซึ่งมีผลต่อการดูดซึมแคลเซียมในลำไส้

เพราะฉะนั้นหากมีฮอร์โมนพาราไทรอยด์มากเกินไป ระดับแคลเซียมในกระแสเลือดจะสูง เมื่อแคลเซียมในกระดูกถูกดึงออกมามากๆ กระดูกก็จะบางลง และเป็นโรคกระดูกพรุนในที่สุด และเมื่อแคลเซียมสูงมากๆ จะส่งผลต่อหัวใจ ร่างกายจึงพยายามปกป้องหัวใจด้วยการขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ ไตทำงานหนัก เมื่อร่างกายขาดน้ำมากๆ ทำให้เสี่ยงต่อภาวะไตวาย และเมื่อมีแคลเซียมอยู่ในปัสสาวะมาก ก็ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นนิ่วในไต หลายคนที่เป็นเรื้อรังมากจะมีอาการปวดท้องบ่อยๆ หรือมีอาการทางจิตเวช หรือมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงได้


สังเกตตัวเองได้หรือไม่

บางรายเป็นระยะเริ่มแรกมักไม่มีอาการ แต่จะพบได้จากการตรวจระดับแคลเซียมในเลือดว่ามีค่าสูงผิดปกติหรือไม่ แต่เมื่อถึงระดับหนึ่งจะเริ่มปัสสาวะบ่อยและกระหายน้ำ แต่อาการเหล่านี้จะพบในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานได้บ่อยกว่า เนื่องจากโรคพาราไทรอยด์ไม่ใช่โรคที่พบได้บ่อย พบเพียง 1 ใน 1,000 เท่านั้น ในขณะที่เบาหวานพบว่ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมีอุบัติการณ์ของเบาหวานในคนไทย อายุมากกว่า 35 ปีถึงเกือบร้อยละ 10

อีกกลุ่มหนึ่งของโรคพาราไทรอยด์ เมื่อพบจากการที่กระดูกพรุนแล้ว แพทย์จึงจะเจาะเลือดตรวจดู หากพบว่ามีระดับแคลเซียมในเลือดสูงจึงจะหาสาเหตุต่อไป อย่างไรก็ตาม ขอเน้นว่าโรคนี้พบได้ไม่บ่อย และสาเหตุหลักส่วนใหญ่ของโรคกระดูกพรุนมักมาจากอายุที่มากขึ้น ฮอร์โมนเพศต่ำลง เช่น หมดประจำเดือน เป็นต้น โรคพาราไทรอยด์จึงไม่ใช่สาเหตุหลักของโรคกระดูกพรุน


การป้องกัน

หากเป็นชนิดไม่มีสาเหตุ ก็ไม่สามารถป้องกันได้ มีเพียงการตรวจเลือดเพื่อเฝ้าระวังเท่านั้น เนื่องจากโรคนี้พบไม่มาก การตรวจสุขภาพดูระดับแคลเซียมในเลือดทุกปีจึงอาจไม่คุ้มค่า ในกลุ่มที่มีเหตุ เช่น โรคไตวายเรื้อรัง สามารถป้องกันได้ด้วยการติดตามระดับแคลเซียม ฟอสฟอรัส และฮอร์โมนพาราไทรอยด์เป็นระยะ

พาราไทรอยด์ แม้จะเป็นเพียงต่อมเล็กๆ แต่มีหน้าที่สำคัญในการปรับความสมดุลของระดับแคลเซียมในเลือด หากพาราไทรอยด์ทำงานผิดปกติจะส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายมากมาย และถึงแม้สาเหตุส่วนหนึ่งของโรคจะยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่อย่างน้อยการตรวจสุขภาพประจำปีก็จะช่วยทำให้เราทราบถึงความผิดปกติ เพื่อจะได้รับมือตั้งแต่เนิ่นๆ

แนวทางการรักษา

การรักษาหลักคือ การผ่าตัดเนื้องอกออก การจะทราบว่ามีเนื้องอกกี่ก้อนต้องผ่านการตรวจด้วยวิธี 'พาราไทรอยด์สแกน' เสียก่อน บางคนที่มีข้อห้ามในการผ่าตัดอาจใช้การฉีดแอลกอฮอล์ที่เนื้องอกเพื่อให้เนื้องอกฝ่อ แต่ต้องทำโดยผู้ที่ชำนาญและผลการรักษาก็ไม่ดีเท่าการผ่าตัด โดยให้ผลดีในก้อนเนื้องอกเดี่ยวๆ มากกว่าต่อมพาราไทรอย์โตทั่วๆ ไป การรักษาแบบสุดท้ายคือ ใช้ยารับประทาน ซึ่งผลการรักษาไม่ดีนัก และใช้รักษาในผู้ที่มีอาการไม่มากหรือไม่มีอาการเลย

การปฏิบัติตนของผู้ป่วยโรคพาราไทรอยด์

หลังจากที่ทราบว่าเป็นโรคพาราไทรอยด์ หากเป็นผู้ที่ไม่มีอาการใดๆ คือตรวจพบโดยบังเอิญ ในกลุ่มนี้จะไม่ได้รับการรักษา แต่จำเป็นต้องติดตามผลเลือดได้แก่ ค่าแคลเซียมและการทำงานของไตทุกๆ ปี ร่วมกับตรวจมวลกระดูกเพื่อเฝ้าระวังภาวะกระดูกบางทุกๆ 2 ปี ระหว่างนี้ควรปฏิบัติตัวที่ช่วยเสริมสร้างมวลกระดูกด้วยการรับประทานอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมและวิตามินดีที่เหมาะสม ไม่มากไม่น้อยเกินไป โดยเด็กอายุ 1-3 ปี ควรได้รับปริมาณแคลเซียมวันละ 700 มิลลิกรัม สำหรับเด็กที่มีอายุ 4-8 ปีควรได้รับวันละ 1,000 มิลลิกรัม วัยรุ่นอายุ 9-18 ปีควรได้รับวันละ 1,300 มิลลิกรัม ในขณะที่ผู้ใหญ่ที่มีอายุตั้งแต่ 19-50 ปี ควรได้รับวันละ 1,000 มิลลิกรัม หญิงมีครรภ์ควรได้รับ 1,500 มิลลิกรัม ส่วนผู้หญิงที่มีอายุ 51 ปีขึ้นไป และผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 71 ปีขึ้นไปนั้น ควรได้รับแคลเซียมอย่างน้อยวันละ 1,200 มิลลิกรัม แหล่งของแคลเซียมมีหลากหลายมาก อย่าง ผักใบเขียวทั้งหลาย ถั่ว เต้าหู้ สัตว์น้ำเล็กเช่นกุ้งและปลา ไม่ว่าจะเป็นกุ้งฝอย กุ้งแห้ง กุ้งแก้ว ปลาซิว ปลาแห้ง ปลากรอบ ปลาป่นสำเร็จรูป ผักในบ้านเราที่มีแคลเซียมมากมีอยู่มากมาย เช่น ใบยอ ใบชะพลู ยอดแค ยอดสะเดา ผักคะน้า นอกจากนี้ในงาดำ ถั่วแดงหลวง ถั่วเหลือง เม็ดบัว ก็มีแคลเซียมมาก ส่วนวิตามินดีก็จำเป็นต่อการสร้างมวลกระดูกอย่างมาก ทั้งยังช่วยในการดูดซึมแคลเซียม ในผู้ที่มีภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติมักพบว่าขาดวิตามินดีอยู่บ่อยครั้ง วิตามินดีที่ควรได้รับต่อ 1 วัน คือ 600 IU (International Unit) ทั้งนี้ในผู้ที่อายุมากกว่า 70 ปีเป็นต้นไปควรได้รับถึง 800 IU ต่อวัน แหล่งอาหารที่มีวิตามินดีได้แก่

- พืชผัก ผลไม้ และในเนื้อเยื่อของสัตว์ แต่จะมีอยู่น้อยมากในพืชและผัก ที่พบมากได้แก่ น้ำมันตับปลา ไขมัน นม เนย ตับสัตว์ ตับปลาคอด (COD) ปลาทู ไข่แดง ปลาแซลมอน ปลาซาดีน ปลาแมคเคอร์เรล

- นม เป็นอาหารที่นิยมเสริมวิตามินดี เพราะเป็นอาหารที่มี แคลเซียม ฟอสฟอรัส และไขมัน ที่จะช่วยเพิ่มอัตราการดูดซึมจากลำไส้เล็ก ปริมาณวิตามินดีที่เสริม คือ 400 IU ต่อลิตร

ทั้งนี้ปริมาณของวิตามินดีในอาหารอาจเปลี่ยนแปลงได้มากตามฤดูกาล และภาวะแวดล้อมต่างๆ

นอกจากเรื่องของอาหารที่ควรคำนึงถึงแล้ว ผู้ป่วยหรือผู้ที่มีไตวายเรื้อรังยังควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้มวลกระดูกลดลง อาทิ บุหรี่ ชา กาแฟ น้ำอัดลม และควรดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วที่ไต และหลีกเลี่ยงยาที่จะให้ปริมาณแคลเซียมในเลือดสูงเกิน เช่น ยาขับปัสสาวะ หรือยาจิตเวชบางชนิด ฉะนั้นหากต้องรับยาใดๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน

ส่วนในผู้ที่เป็นโรคต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติและได้รับการรักษา เช่นได้รับการผ่าตัดแล้ว จะพบว่าระดับแคลเซียมในเลือดและค่าการทำงานของไตมักจะดีขึ้นตามลำดับ และมวลกระดูกจะเพิ่มขึ้น ในกลุ่มนี้ควรปฏิบัติตัวดังคำแนะนำข้างต้น และติดตามการรักษา รวมทั้งพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นใหม่ของโรค

การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยโรคพาราไทรอยด์

การออกกำลังกายเพื่อช่วยเสริมสร้างมวลกระดูกนับเป็นสิ่งที่ดี ผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกายมีแต่จะสูญเสียมวลกระดูกไป กระดูกก็เหมือนกับกล้ามเนื้อ ยิ่งออกกำลังกายก็ยิ่งแข็งแรง การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่มีแรงกดดันต่อกระดูกจะกระตุ้นให้มีการสร้างกระดูกใหม่ๆ ขึ้น แต่ผู้ป่วยควรดื่มน้ำให้เพียงพอระหว่างการออกกำลังกายเพื่อลดการสูญเสียน้ำซึ่งจะทำให้แคลเซียมในร่างกายสูงเกินไป ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกายเพื่อตรวจสภาพของร่างกาย รวมทั้งรับทราบถึงข้อห้ามต่างๆ เพื่อจะได้นำไปปรับใช้ และเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรงได้อย่างเต็มที่ต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก

Slim Up magazine

พญ.สมพร วงศ์เราประเสริฐ

อายุรแพทย์เบาหวาน ไทรอยด์และต่อมไร้ท่อ ประจำโรงพยาบาลเวชธานี

โรคพาร์กินสัน (Parkinson's Disease)

โรคพาร์กินสัน (Parkinson's Disease)


โรคพาร์กินสัน (Parkinson's Disease)
       ถูกค้นพบครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ.1817 โดย ดร.เจมส์ พาร์กินสัน อายุรแพทย์ชาวอังกฤษ แต่มาพูดถึงกันมากขึ้นเมื่อมาเป็นกับคนดังอย่างอดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน และนักแสดงไมเคิล เจ ฟ็อกซ์ อัตราการเป็นโรคพาร์กินสันของเมืองไทยและทั่วโลก คือใน 1,000 คนจะเป็นโรคพาร์กินสัน 3 คน โรคนี้พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ทั้งเพศชายและเพศหญิง แต่ก็มีผู้ป่วยประมาณ 5-10% ที่มีอายุในช่วง 40 ปีหรือต่ำกว่านั้น
      โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์สมอง โดยเฉพาะส่วนที่สร้างโดปามีน (dopamine) ทำให้โดปามีนมีปริมาณน้อยลง จึงส่งผลให้เกิดความผิดปกติของการเคลื่อนไหว

อาการของโรคพาร์กินสัน
อาการทางกาย

  • สั่น
  • เคลื่อนไหวช้า
  • หน้านิ่ง
  • พูดช้า เสียงค่อย
  • น้ำลายไหล
  • ร่างกายแข็งเกร็ง
  • เดินลำบาก เดินซอยเท้า เท้าติดเวลาก้าวขา
  • หกล้มง่าย
  • อาการทางจิตใจ
  • ซึมเศร้า
  • วิตกกังวล

อาการอื่นๆ

  • ความจำระยะสั้นไม่ค่อยดีในระยะต้น ความจำเสื่อมในระยะท้าย
  • เหงื่อออกมาก
  • ท้องอืด ท้องผูก
  • ปัสสาวะบ่อย ควบคุมการปัสสาวะไม่ได้
  • การรับรู้กลิ่นและรสไม่ดี
  • มึนศีรษะเวลาลุกขึ้นเนื่องจากความดันโลหิตต่ำลง


สาเหตุของโรคพาร์กินสัน
       ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคพาร์กินสันอย่างแน่ชัด แต่เชื่อว่ามีปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดโรคพาร์กินสันได้ ได้แก่
ปัจจัยทางพันธุกรรม ในรายที่มียีนผิดปกติอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคพาร์กินสันได้
ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น การได้รับสารบางอย่างเป็นเวลานานๆ ไม่ว่าจะโดยการสูดดมหรือการรับประทาน หากแต่ยังไม่ทราบว่าสารใดในสิ่งแวดล้อมที่มีส่วนทำให้เกิดโรคพาร์กินสัน

การรักษาโรคพาร์กินสัน
       ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคพาร์กินสันให้หายขาดหรือหยุดยั้งการดำเนินของโรคได้ ซึ่งวิธีการรักษาที่ใช้โดยทั่วไปมีดังนี้
การรักษาด้วยยา เป็นการรักษาตามอาการ โดยใช้ยาที่ออกฤทธิ์ที่ระบบโดปามีน
การรักษาโดยการผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก (deep brain stimulation) เป็นวิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดฝังขั้วไฟฟ้าเพื่อไปกระตุ้นสมอง ใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ซึ่งเคยได้รับการรักษาด้วยยา แต่มีอาการมากขึ้นจนการรักษาด้วยยาไม่ให้ผลดีเท่าที่ควร

ทั้งนี้ แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย