โรคไมเกรน
หากคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่มีอาการปวดศีรษะ แต่ไม่แน่ใจว่าอาการปวดศีรษะของคุณจะใช่ไมเกรนหรือไม่ ลองสังเกตดูว่าลักษณะการปวดของคุณ ตรงกับข้อใดบ้าง ดังต่อไปนี้
- ปวดศีรษะข้างเดียว
- ปวดตุ้บๆ เป็นจังหวะ
- ปวดมากขึ้นเมื่อขยับร่างกาย
- ปวดมากจนไม่เป็นอันทำอะไร
- มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วยเป็นบางครั้ง
- ทนแสงแดดจ้าหรือเสียงดังไม่ค่อยได้
เพราะเหตุใดจึงเป็นไมเกรน
เพื่อความเข้าใจที่ดีขึ้นอันจะนำไปสู่การรับมืออย่างได้ผล Better Health คุยกับนพ. ไพศาล วชาติมานนท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท เพื่อขอคำแนะนำในการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยไมเกรน ให้ยังคงมีคุณภาพชีวิตที่ดีแม้จะต้องอยู่กับอาการปวดศีรษะต่อไป
นพ. ไพศาลอธิบายลักษณะการปวดศีรษะแบบไมเกรนไว้ว่า “อาการปวดศีรษะแบบไมเกรนนั้น มีลักษณะค่อนข้างชัดเจน กล่าวคือ มักจะปวดบริเวณขมับโดยอาจจะปวดข้างเดียว หรือทั้งสองข้างก็ได้ บางกรณีอาจมีการปวดวนกันไป และมักจะปวดข้างเดิมอยู่ซ้ำ ๆ ส่วนอีกบริเวณหนึ่งที่พบมาก ได้แก่ บริเวณเบ้าตา ลักษณะของการปวด ก็มักจะปวดตุ้บๆ ตามจังหวะของชีพจร ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย”
ระยะเวลาของการปวดอาจแตกต่างกันออกไปในผู้ป่วยแต่ละราย บางรายอาจมีอาการยาวนานถึง72 ชั่วโมง การปวดศีรษะแบบไมเกรนนั้นเป็นโรคทางสมองชนิดหนึ่งซึ่งยังหาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้ แต่น่าเชื่อได้ว่าอาจมีจุดกำเนิดจากก้านสมองที่ทำงานผิดปกติ หรือเกิดจากภาวะที่สารเคมีในสมองไม่สมดุล ส่งผลให้หลอดเลือดมีความไวต่อการกระตุ้นมากเป็นพิเศษกล่าวคือ มีการหด และขยายตัวของหลอดเลือดอย่างผิดปกติ
นพ. ไพศาลเสริมว่า “มีการถามกันมาก ว่าเพราะเหตุใดหลอดเลือดจึงไวต่อการกระตุ้น ก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องของพันธุกรรม หากจะเปรียบให้เห็นภาพ ก็ต้องเปรียบกับผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด ที่มีความเปราะบาง และไวต่อการกระตุ้น ในสถานการณ์เดียวกัน ถ้าไปเจอสิ่งกระตุ้น คนปกติจะไม่เป็นไร แต่ผู้ป่วยโรคหอบหืดนั้นจะเกิดอาการผิดปกติขึ้นมาทันที กรณีของผู้ป่วยไมเกรนก็เช่นเดียวกัน”
ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งสำหรับอาการปวดศีรษะแบบไมเกรน ได้แก่ ผู้ป่วยมักจะเริ่มเป็นเมื่ออายุยังไม่มากนัก เช่น ช่วงอายุระหว่าง 25 ถึง 45 ปี และเคยมีรายงานว่าพบผู้ป่วยไมเกรนที่มีอายุเพียง 5 ปี ที่สำคัญมีผู้ป่วยผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า เนื่องจากอาจมีปัจจัยเรื่องของฮอร์โมนเข้ามาเกี่ยวข้อง
ปัจจัยกระตุ้น
ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการปวดไมเกรนมีหลายประการซึ่งอาจแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละรายซึ่ง นพ. ไพศาลอธิบายว่า “ปัจจัยกระตุ้นไมเกรนมีหลายประการ ที่พบได้บ่อย คือ แสงแดด แสงจ้า ซึ่งผู้ป่วยคุ้นเคยเป็นอย่างดี ต่อมาได้แก่ การอดนอน นอนน้อย หรือนอนดึก นอกจากนี้ อาหารก็เป็นตัวกระตุ้นไมเกรนได้เช่นเดียวกันคือ แอลกอฮอล์ โดยเฉพาะไวน์แดง ช็อคโกแล็ต ชีส และสุดท้ายได้แก่ ยาคุมกำเนิด ซึ่งเป็นยาฮอร์โมน และสามารถไปกระตุ้นไมเกรนได้”
โดยสรุปแล้ว ปัจจัยที่กระตุ้นการเกิดไมเกรนมีดังนี้
- ความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ช่วงมีประจำเดือน ระหว่างตั้งครรภ์ ช่วงหมดประจำเดือน หรือการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด
- อาหารบางชนิด เช่น ชีส ไวน์แดง ช็อคโกแล็ต น้ำตาลเทียม ผงชูรส ชา และกาแฟ
- การกระตุ้นทางประสาทสัมผัส อาทิ แสงจ้า เสียงดัง กลิ่นฉุน กลิ่นบุหรี่
- รูปแบบการนอนที่เปลี่ยนไป เช่น นอนดึก นอนไม่พอ หรือนอนมากเกินไป
- สิ่งแวดล้อม เช่น อากาศร้อน ฝุ่นควัน
- ยาบางชนิด
นอกเหนือจากปัจจัยที่กล่าวมาแล้ว หลายคนเชื่อว่าความเครียดก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กระตุ้นการปวดไมเกรนตรงนี้ นพ.ไพศาลอธิบายว่า “จริง ๆ แล้วความเครียดไม่ได้ทำให้เราเป็นไมเกรน แต่ด้วยพันธุกรรมทำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อไมเกรนอยู่แล้วเป็นไมเกรนขึ้นมา เมื่อไรก็ตามที่เราเครียดเราจะปวดหัวได้สองแบบ แบบแรก คือมึน ๆ เหมือนมีอะไรมารัดศีรษะอยู่แน่นไปหมด อันนี้เป็นลักษณะการปวดหัวแบบเครียด แต่คนเป็นไมเกรนจะปวดหัวแบบไมเกรน หรือแบบผสม เช่น ปวดตุ้บ ๆ คลื่นไส้ อาเจียน”
การรักษา
สำหรับการรักษา นพ. ไพศาลกล่าวว่า “การรักษาไมเกรนให้หายขาดยังเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาค้นคว้ากันต่อไป จุดมุ่งหมายในการรักษาจึงอยู่ที่การรับมือกับอาการปวด ไม่ว่าจะด้วยการรักษา หรือป้องกันอาการ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทุกข์ทรมานจากความปวดน้อยลง และประกอบกิจวัตรต่าง ๆ ได้ตามปกติ”
ในการรักษา แพทย์จะพิจารณาว่าผู้ป่วยมีอาการบ่อย และรุนแรงเพียงใด ตามสถิติ ผู้ป่วยไมเกรนประมาณร้อยละ 80 มีอาการปวดศีรษะ 1 ถึง 2 ครั้งต่อเดือน มีผู้ป่วยจำนวนไม่มากนักที่ปวดบ่อย หรือปวดทุกวัน การรักษาหลัก ๆ ได้แก่การให้ยา ซึ่งแบ่งเป็นยาสำหรับรักษาอาการและยาสำหรับป้องกัน
อาการ
อาการ
“สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง หรือปวดนาน ๆ ครั้ง แพทย์จะสั่งยาแก้ปวดให้รับประทาน แต่โดยมากแล้ว ยาแก้ปวดธรรมดาอย่างพาราเซตามอล มักจะใช้ไม่ได้ผลกับผู้ป่วยไมเกรน ต้องใช้ยาที่แรงขึ้นซึ่งก็จะมีข้อเสียคือยาพวกนี้มักจะมีฤทธิ์กัดกระเพาะ หรือไม่ก็เป็นยาจำพวกยาเสพติดเช่น ฝิ่นสังเคราะห์ ซึ่งผู้ป่วยอาจจะติดได้” นพ. ไพศาลอธิบาย
“ส่วนผู้ที่เป็นบ่อย ๆ เช่นเดือนหนึ่งเป็น 2 ครั้ง หรือมากกว่า แพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาป้องกัน ยากลุ่มนี้เป็นยาที่ต้องรับประทานทุกวัน ยาที่จัดอยู่ในกลุ่มป้องกันมี 3 ถึง 4 กลุ่ม ได้แก่ยาความดันโลหิตบางตัวในขนาดต่ำ ๆ กลุ่มที่สองได้แก่ ยากันชักบางตัว ขนาดต่ำ ๆ กลุ่มที่สามได้แก่ยาต้านอาการซึมเศร้า และสี่ได้แก่ ยาต้านแคลเซียม”
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายไม่ชอบที่จะต้องรับประทานยาทุกวัน ซึ่งนพ. ไพศาลกล่าวว่า “ในส่วนของยาป้องกันนั้นมีความยืดหยุ่นพอสมควร คือไม่รับประทานก็ได้ ถ้าสามารถอยู่กับความปวดได้ ผมมีผู้ป่วยซึ่งเลือกที่จะไม่รับประทานยาอยู่หลายราย ผมก็จะแนะนำโดยเน้นไปในเรื่องของการปฏิบัติตัว”
รับมือกับไมเกรน
- แม้ว่าอาการปวดศีรษะแบบไมเกรนจะรักษาไม่หาย แต่ผู้ป่วยก็สามารถดูแลตัวเองเพื่อบรรเทา และลดความถี่ในการถูกกระตุ้นจนเกิดอาการปวดได้โดยปฏิบัติดังนี้
- หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นไมเกรน ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่บางคนอาจมีปัจจัยกระตุ้นอื่นอีกได้ ทางที่ดี ควรหมั่นสังเกตตัวเองให้ดี รวมทั้งพิจารณาจากประสบการณ์ที่ผ่านมา และพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นนั้น ๆ
- นอนหลับให้เพียงพอ แต่อย่าให้มากเกินไป ผู้ใหญ่โดยทั่วไปควรนอนให้ได้ประมาณ 6 ถึง 8 ชั่วโมงต่อวัน พยายามเข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาทุกวัน
- หยุดพักเมื่อมีอาการ ถ้าเป็นไปได้ควรพยายามพักผ่อนในห้องเงียบ ๆ มืด ๆ ร่วมกับการประคบเย็นบริเวณต้นคอ พร้อมกับนวดบริเวณที่ปวดก็จะช่วยบรรเทาอาการได้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายติดต่อกันไม่น้อยกว่า 30 นาที จะช่วยให้ร่างกายโดยรวมแข็งแรง และลดความเครียดซึ่งอาจจะช่วยลดความถี่ของการปวดได้
- จดบันทึกอาการของคุณ บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับความปวด อาทิ วัน เวลา ระยะเวลา ลักษณะอาการปวด อาหารที่รับประทาน รวมถึงความผิดปกติต่าง ๆ ที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกับอาการของคุณเลย
เมื่อไรควรรีบไปพบแพทย์
นพ. ไพศาลเล่าว่า จากประสบการณ์ที่เคยพบมา สาเหตุที่ทำให้ปวดศีรษะโดยมากมักจะไม่ร้ายแรง แต่ก็มีหลายกรณีที่อาการปวดศีรษะเป็นอาการนำ และมีอาการอื่นร่วมด้วย กรณีนี้ ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์
“ถ้ามีอาการปวดศีรษะ แล้วมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้สูง ตาเห็นภาพซ้อน ตาเหล่ ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แบบนี้ไม่ใช่ไมเกรนแน่ ๆ แต่เห็นได้ชัดว่าเป็นความผิดปกติทางระบบประสาท หรืออาการปวดศีรษะชนิดที่แปลกออกไป แบบที่ไม่เคยปวดมาก่อน เช่น ปวดต่อเนื่องยาวนานไม่ดีขึ้นแม้ใช้ยา แขนขาอ่อนแรง ชาครึ่งซีก พูดไม่ออก ถ้ามีอาการแบบนี้ต้องรีบไปพบแพทย์ครับ” นพ. ไพศาลกล่าว
แม้อาการปวดศีรษะแบบไมเกรนจะเป็นประสบการณ์ที่แสนทรมาน แต่หากรู้จักรับมืออย่างถูกวิธีแล้ว ไมเกรนก็อาจไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของคุณจนเกินไปนัก
จาก http://www.bumrungrad.com/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น