รังแค รังควานศีรษะคุณได้อย่างไร?
'รังแค' รังควานศีรษะคุณได้อย่างไร ? (กรุงเทพธุรกิจ)
โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ
ถ้าได้รู้ว่า รังแคที่มารังควานศีรษะเรามาจากไหน และจะจัดการยังไงได้ ก็น่าสนุกไม่น้อย
ตามปกติแล้ว เซลล์หนังศีรษะของคนเราซึ่งเกิดใหม่จะค่อยๆ เลื่อนจากใต้ผิวหนังขึ้นมาจนถึงผิวชั้นบนสุด และหลุดออกไปในเวลาประมาณ 28 วันโดยเฉลี่ย โดยเซลล์ที่หลุดออกจะเป็นชิ้นเล็กๆ ที่ตาเปล่ามองไม่เห็นแต่ถ้ามีสาเหตุใดก็ตามที่ทำให้วงจรนี้ถูกเร่งให้เร็วขึ้น เช่น จาก 28 วัน เหลือแค่ 7-21 วัน โดยเซลล์ที่หลุดออกแทนที่จะเป็นชิ้นเล็ก กลับมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นขุยสีขาวหรือเท่า และมองเห็นได้ชัด แถมยังคนศีรษะอีกต่างหาก อย่างนี้ก็แสดงว่ามีรังแค (dandruff) แน่แล้ว ผรั่งผิวขาวเก็บสถิติมาว่า พวกเขาเองนั้นมีรังแคถึง 50% (ในบางช่วงของชีวิต) ส่วนพี่มืดเชื้อสายแอฟริกันเป็นมากกว่าคือราว 80% (คนเอเชียเท่าไรเอ่ย?)
เดิมเชื่อกันว่า ผู้ร้ายหมายเลขหนึ่งที่ทำให้เกิดรังแค ก็คือ เชื้อราที่มีชื่อว่า Malassezia furfur ซึ่งเป็นเชื้อราที่มีอยู่ตามปกติบนผิวหนังศีรษะของเรา และใช้ไขมันจากหนังศีรษะเป็นอาหาร โดยถ้าเชื้อราพวกนี้มีปริมาณปกติ เราก็จะไม่เป็นอะไร แต่ถ้ามีมากผิดปกติ ก็จะทำให้รังแคเริ่มออกรังควานอย่างสนุกสนาน
แต่งานวิจัยใหม่บางชิ้นบอกว่า ผู้ร้ายตัวจริงอาจจะไม่ใช่ M.furfur แต่เป็นญาติของมันอีก 2 ชนิดที่มีชื่อว่า M.restricta และ M.globosa
โดยตัว M.ทั้งหมดนี่หมายถึงมีสกุล (genus) เดียวกันคือ Malassezia แต่ชื่อที่ตามมาเป็นชนิด (species) โดยรังแคเกิดจากเศษไขมันที่หลงเหลือจากที่เจ้าเชื้อรา 2 ชนิดนี่หม่ำแล้ว
พอรู้สาเหตุหลักแล้ว (ไม่ว่าผู้ร้ายตัวเอกจะเป็นเชื้อราตัวไหนก็ตาม) ก็มีวิธีการจัดการรังแค 2 แบบหลัก แบบแรกคือ เข้าไปลุยฆ่าเชื้อราที่เป็นต้นเหตุโดยตรง โดยใช้สารต่อต้านเชื้อรา (Anti-fungal ingredients) เช่น
ซิงค์ไพริไทออน (Zinc pyrithione) หรือ ZPT ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ เราทั้งสารอื่นๆ เช่น ซีลีเนียมซัลไฟต์ (selenium sulfide), คีโทโคนาโซล (ketoconazole), ไคล์มบาโซล (climbazole) และออกโทไพรรอกซ์ (octopirox)
ส่วนแบบที่สองคือ ลดสาเหตุการเกิดรังแคอย่างอ้อมๆ ซึ่งแบ่งย่อยได้อีก 2 ลักษณะ ได้แก่ ใช้สารลดการแบ่งตัวของเซลล์ที่หนังศีรษะ (Anti-proliferative) เช่น โคลทาร์ (coal tar) ซึ่งจะทำให้เซลล์ผิวหนังเกิดช้าลง หรือ ใช้สารลดขุยรังแค (Keratolytic agents) เช่น กำมะถัน (sulfur) หรือกรดซาลิซิลิก (salicylic acid) ซึ่งจะทำให้เซลล์ผิวหนังหลุดออกไปเป็นชิ้นเล็กๆ ง่ายขึ้น
แต่ไม่ใช่แค่เจ้าเชื้อรานี่เท่านั้น ยังอาจมีสาเหตุอื่นๆ ที่ช่วยเพิ่มโอกาสการเกิดรังแคให้ง่ายอีกด้วย เช่น สภาพลมฟ้าอากาศ ระดับฮอร์โมน ผิวหนังที่มีไขมันสูงกว่าปกติ และอาหารการกิน รวมทั้งความเครียด เช่น ยิ่งเครียดมาก ยิ่งมีรังแคเยอะ!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น